กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF)

หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์เหมาะสำหรับการลงทุนในทุกภาวะเศรษฐกิจ

1.หุ้นในกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ มีลักษณะเป็นหุ้นปลอดภัย (Defensive Stocks) กล่าวคือ กำไรสุทธิบริษัทยังเติบโตได้แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดย 25 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย โกลบอลเฮลธ์แคร์ ยังมีกำไรสุทธิที่เป็นบวก ณ ปัจจุบัน หากพิจารณาระดับราคาหุ้นเฮลธ์แคร์ในสหรัฐฯ ถือว่าได้สะท้อนปัจจัยลบจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปีค.ศ. 2020 ไปพอสมควร เห็นได้จากกราฟซึ่งแสดงการเปรียบเทียบระหว่างระดับราคา Valuation หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ของสหรัฐฯ เทียบกับกลุ่มอื่น ด้วยเหตุที่ราคาหุ้นในปีนี้ปรับตัวขึ้นน้อย ทำให้หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ในสหรัฐฯ ซื้อขาย ณ ระดับราคาเพียง 6 เท่า (FW Price-to-Earnings) ยกเว้นเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มธนาคาร ที่เผชิญกับภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เมื่อว่ากันโดยเปรียบเทียบแล้วเฮลธ์แคร์มีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนเชิงเปรียบเทียบหรือเรียกว่า Relative Performance ได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ในช่วงที่ตลาดวกกลับเข้าสู่โหมดหลีกหนีความเสี่ยง (Risk Aversion)

2.ธุรกิจเฮลธ์แคร์ ขับเคลื่อนจากปัจจัยที่มีความจำเป็น และเป็นเทรนด์ที่มีความชัดเจนมากจนเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย อาทิ กลุ่มโครงสร้างประชากรสูงอายุ (ตั้งแต่ 65+ ปีขึ้นไป) ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทำให้เกิดโรคภัยที่มีต้นทุนการรักษาสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เติบโตรวดเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่ ทั้งสามปัจจัยล้วนแต่เพิ่มเม็ดเงินให้กับกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3.ลำพังตัวธุรกิจโกลบอลเฮลธ์แคร์เอง ต่างมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมเพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นและช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพให้ถูกลง ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน

4.ธุรกิจเฮลธ์แคร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การลงทุนไปกับบริษัทผู้ผลิตเภสัชกรรมยาและยาไบโอเทคเท่านั้น ยังมีบริษัทคุณภาพและเติบโตสูงในหมวดเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพ

มุมมองต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์

(+) โครงสร้างและแรงขับเคลื่อนในระยะยาว (Structural long term driver)

ในปีค.ศ.2050 กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 65+ ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วน 16% ของประชากรโลกหรือคิดเป็นประมาณ 1,600 ล้านคน เทียบกับเพียง 600 ล้านคน ณ ตอนนี้ เทรนด์ดังกล่าวจะเพิ่มความต้องการและ/หรืออุปสงค์ต่อเฮลธ์แคร์ทุกทวีปทั่วโลก

(+) ไลฟ์สไตล์หรือวิถีการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านเฮลธ์แคร์สูงขึ้น

จากกราฟด้านล่าง เราจะพบว่าในอดีตปี ค.ศ. 1900 สาเหตุของการตายของคนส่วนใหญ่มาจากโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะติดเชื้อ เช่น วัณโรค (Tuberculosis) ปอดบวม (Pneumonia) แต่ในปี ค.ศ. 2018 สาเหตุหลักของการตายมาจากโรคหัวใจและมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการเยียวยา บำบัด รักษา และใช้เทคโนโลยีระดับสูงกว่าแต่ก่อน แต่มีประชากรจำนวนน้อยที่เข้าถึง

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ความมั่งคั่งของประชากรเมื่อวัดจากรายได้ต่อหัวของประชาชนในประเทศ (GDP Per Capita) มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรที่พบว่าเป็นมะเร็ง เห็นได้จากจากกราฟด้านล่าง

กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร มีคนเป็นโรคมะเร็งมากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวน้อย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ กานา เนปาล ภูฏาน จอร์แดน ปาเลสไตน์ สาเหตุมาจากรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปจากอดีต

(+) โรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งแขนงที่น่าตกใจ องค์กร International Diabetes Federation ซึ่งมีสมาชิกกว่า 160 ประเทศทั่วโลก คาดไว้ว่า ผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จะพบว่าเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 425 ล้านคนเป็น 629 ล้านคน (ตามกราฟด้านล่าง) เนื่องจากวิถีการใช้ชีวิต การกิน การออกกำลังกาย หรือที่เรียกว่าไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไปทำให้ปริมาณคนเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน

หากพิจารณาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของคนเป็นโรคเบาหวานเราจะพบว่าในปี 2000 คนบนโลกพบเป็นโรคเบาหวานเพียง 151 ล้านคน ในปี 2017 พบเป็น 425 ล้านคน ในปี 2045 คาดว่ามีประมาณ 629 ล้านคน นับว่าเป็นอัตราการเติบโตที่สูงมาก โรคเบาหวานเป็นปัจจัยนำมาสู่โรคอื่น ได้แก่ โรคไต (Kidney disease) โรคหัวใจ (Heart disease) ล้วนแต่เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาสูง

(+) โรคมะเร็งก็มีอัตราการเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของประชากร เมื่อ 30 ปีก่อนมีคนทั่วโลกเป็นมะเร็งเพียง 40 ล้านคน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 100 ล้านคน ว่ากันโดยสถิติแล้ว ณ ปัจจุบัน สาเหตุที่ทำให้จำนวนประชากรโลกเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นคือ อายุขัยที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง หมายความว่า อายุกับโอกาสเป็นมะเร็งมีความสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อายุ 65+ ปี ถึง 70+ ปีขึ้นไปจะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าวัยอื่น ดูได้จากกราฟ

Number of people with cancer by age, World

Total number of people with cancer, differentiated by age. This is measured across all cancer types.

(+) อัตราการเติบโตด้านค่าใช้จ่ายเฮลธ์แคร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4.3% ต่อปี (CAGR 2015 – 2020) โดยประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งมีสมาชิกประเทศยุโรปตะวันตกจำนวน 19 ประเทศ หรือ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ขณะที่สหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายด้านเฮลธ์แคร์ 18% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ ส่วนจีน อินเดีย อยู่ที่ 4-5% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ

(+) ค่าใช้จ่ายด้านเฮลธ์แคร์ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศของ 35 ประเทศในกลุ่ม OECD แล้วยังเติบโตเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ

(+) เฮลธ์แคร์ ประกอบไปด้วยบริษัทด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ ที่พร้อมจะเข้ามาปฏิวัติ (Revolutionary) วงการแพทย์และพร้อมที่จะวิวัฒนาการ (Evolutionary) อุตสาหกรรมให้ก้าวต่อไป โดย

1. นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมจะเข้ามาปฏิวัติ (Revolutionary) ได้แก่

1.1 การรักษาด้วยยีน (Gene Therapy) อาศัยการนำยีนเข้าสู่เซลล์เพื่อให้ทำหน้าที่ภายในร่างกาย โดยยีนดังกล่าวเป็นยีนที่ปกติที่สามารถทำหน้าที่ทดแทนยีนที่ผิดปกติได้ ทำได้โดยฉีดยีนเข้าไปในเนื้อเยี่อที่ต้องการให้ยีนนั้นทำงานโดยตรง หรืออาจใช้การตัดต่อยีนเข้าสู่จีโนมของไวรัสบางชนิดก่อน แล้วใช้ไวรัสที่ถูกดัดแปลงให้เป็นพาหะนั้น ทำหน้าที่นำยีนที่ต้องการเข้าสู่เซลล์ต่อไป

ตัวอย่าง: การใช้ยีนเพื่อเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดง การใช้ยีนเพื่อเพิ่มปริมาณหลอดเลือดในกล้ามเนื้อ

1.2 การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic surgery) การใช้แขนกลในการเลาะเนื้อเยื่อมะเร็งออกจากเนื้อเยื่อดี ต่อมน้ำเหลือง และทางเดินปัสสาวะ จะทำให้ผลการผ่าตัดของศัลยแพทย์ทำได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ การผ่าตัดทางเดินอาหารส่วนต้น การผ่าตัดก้อนเนื้อในกระเพราะอาหารส่วนต้น ซึ่งทำได้ไม่ยุ่งยาก คนไข้สามารถทานข้าวได้ในวันรุ่งขึ้น และสามารถกลับบ้านได้รวดเร็ว นอกจากนี้โรคที่มะเร็งนิยมใช้แขนกลในการรักษามากที่สุด คือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก การเย็บเชื่อมท่อปัสสาวะเข้าด้วยกันสามารถทำได้อย่างละเอียด

1.3 การศึกษาสารพันธุกรรมและหาลำดับนิวคลีโอไทด์ของสิ่งมีชีวิต (Genetic Sequencing) ที่เคยมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อครั้ง เมื่อ 13 ปีก่อน ลดลงเหลือเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อครั้ง และยังมีแนวโน้มลดลงต่อในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การที่ต้นทุนการทำ Genetic Sequencing ต่ำลงส่งผลบวกต่อแทบทุกบริษัทในกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ เพราะเป็นการเปิดตลาดใหม่ด้านการวินิจฉัยผู้ป่วยจากปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นเพียงตลาดเล็กๆ คือมีคนเพียง 1.5 ล้านคนที่เข้าถึง อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการคัดกรองมะเร็งเบื้องต้น (Early screening) และโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ประเด็นนี้มีความสำคัญมากเพราะรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุนก็ต่อเมื่อต้นทุนลดลงอย่างมีนัย จนนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาทางด้านการรักษาอย่างเป็นรูปธรรม

กราฟด้านซ้าย: เส้นสีฟ้าแสดงค่าใช้จ่ายต่อครั้งที่ถูกลงเรื่อยๆ จากเดิมคิดเป็นต้นทุนสูงกว่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียงหนึ่งพันดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น และเส้นสีเหลืองแสดงจำนวนคนที่รับการวินิจฉัยเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

2. นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมวิวัฒนาการ (Evolutionary) อุตสาหกรรมให้ก้าวต่อไปซึ่งได้แก่

2.1 การซ่อมลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัด หรือ TAVR: Trans catheter Aortic Valve Replacement TAVR กำลังจะได้รับการตอบรับจากโรงพยาบาลต่างๆ ในอนาคตอีกไม่นาน โดยเป็นการซ่อมลิ้นหัวใจที่ตีบมากๆ หรือมีแคลเซียมเกาะมากๆ ทำให้ลิ้นหัวใจแคบ มีเลือดออกมาน้อย ไม่พอเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเมื่อมีแรงต้าน หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ในระยะแรกหัวใจก็จะปรับให้หนาตัวขึ้นเพื่อสร้างแรงบีบให้ได้มากขึ้น

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ ที่บริเวณขาหนีบประมาณ 2 เซนติเมตร และจะใช้เวลาฟื้นตัวเป็นเวลา 3 – 5 วัน โดย 72 ชั่วโมงแรก (3 วัน) จะยังอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการก่อนกลับบ้านและใช้ชีวิตตามปกติ กินข้าว ได้ใช้เวลากับลูกหลาน ได้ออกกำลังกายและมีการพักผ่อนที่เพียงพอ

(+) หุ้นในกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในกลุ่มอื่นในช่วงเวลาที่ตลาดเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางมหภาคหรือเศรษฐกิจถดถอย เฮลธ์แคร์นับว่าเป็นหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) เห็นได้จากช่วงวิกฤตตามกราฟในพื้นที่สีเทา

กราฟ: แกนตั้งซ้ายแสดงผลตอบแทนเชิงเปรียบเทียบของดัชนี MSCI AC World Healthcare ในช่วงเศรษฐกิจเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมหภาค อาทิ Subprime Crisis ในปี ค.ศ. 2008, European Debt Crisis ในปี ค.ศ. 2011, Trade war ในปี ค.ศ. 2018

(-) ปีค.ศ. 2020 เป็นปีที่สหรัฐฯ มีการเลือกตั้งใหญ่ คาดว่านโยบายที่งัดออกมาใช้เรียกคะแนนเสียงของผู้สมัครจะต้องมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยา ดังที่เคยปรากฏตามพาดหัวข่าวในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา ซึ่งจะเพิ่มความผันผวนต่อราคาหุ้นในระยะสั้น เชื่อว่าการใช้วาทศาสตร์จากฟากนักการเมืองสหรัฐฯ ในประเด็น Medicare for All จะโหมกระหน่ำในช่วงโค้งแห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดี

สรุปผลการดำเนินงานของกองทุนหลัก

Wellington Global Healthcare Equity Fund

กองทุนหลักสร้างผลตอบแทน -4.6% ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน -1.2% ในไตรมาสสาม โดยมีหุ้นที่สร้างผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุนได้น้อยที่สุด (Top-3 Detractor) ในไตรมาสสาม ได้แก่

1. บริษัท Anthem ทำธุรกิจให้บริการทางด้านสุขภาพและประกันสุขภาพ ราคาหุ้นลดลง จากการที่นางอลิซาเบท วอร์เรน วุฒิสภาสังกัดพรรคเดโมแครท ประกาศแผน “Medicare for all” ส่งผลเชิงลบต่อธุรกิจเฮลธ์แคร์ในกลุ่มผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ผลประกอบการในไตรมาสสอง มีชาวอเมริกันสนใจเข้าลงทะเบียนใช้บริการในธุรกิจการให้บริการทางด้านสุขภาพน้อยกว่าเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ อีกทั้งธุรกิจที่ให้บริการผู้ที่ใช้บริการประกันสุขภาพของรัฐบาล (ผู้ที่มีรายได้น้อย) หรือที่เรียกว่า Medicaid มีต้นทุนสูงขึ้น สร้างความกังวลต่อฐานะการเงินของธุรกิจ

2. บริษัท Nektar Therapeutics ทำธุรกิจวิจัยยาไบโอเทคในระยะทดลองกับมนุษย์ ในเดือน ส.ค. บริษัทมีการเปิดเผย/อัพเดทข้อมูลผลิตภัณฑ์ของตัวยาระยะทดลองที่เตรียมไว้สำหรับแผนทางธุรกิจในอนาคตได้อย่างน่าผิดหวัง โดยผลิตภัณฑ์ตัวยาดังกล่าว เชื่อว่าช่วยให้คนสร้างสารภูมิคุ้มกันไว้ใช้ต่อต้านมะเร็งขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ภายใต้ชื่อว่า Bempegaldesleukin (NKTR-2014) ผลิตภัณฑ์ตัวยานี้เป็นการร่วมมือกันกับบริษัท Bristol-Myers Squibb นอกจากนี้ยังพบประเด็นด้านคุณภาพและด้านการผลิตของตัวยา Opdivo ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ศึกษากับกลุ่มคนที่อยู่ในระยะทดลองเฟส 1 เฟส 2 และ เฟส 3 อยู่ กองทุนหลักคาดว่าราคาหุ้นยังคงต้องใช้ระยะเวลาเพื่อรอข้อมูลอัพเดทใหม่ในปี 2020

3. บริษัท Pfizer เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจยาทั่วไปและยาไบโอเทค ราคาลดลงหลังประกาศแผนควบรวมกับธุรกิจสามัญทั่วไปชื่อว่า บริษัท Mylan โดยมุมมองที่ได้ให้ไว้กับนักลงทุนทำให้ตลาดปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นลง กองทุนหลักเชื่อว่า ราคาหุ้นน่าจะเพิ่มขึ้นได้จากนี้ไปจนปิดดีลควบรวมในอีกไม่กี่เดือน ราคาตลาดเทียบกำไรสุทธิที่ต่ำ (ค่าพีอี) น่าจะฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุด หากบริษัทมีการรายงานข้อมูลความคืบหน้าทางด้านฐานะการเงินเพิ่มเติม

หุ้นที่สร้างผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุนได้มากที่สุด (Top-3 Contributor) ในไตรมาสสาม ได้แก่

1. บริษัท Aldar Biopharmaceuticals เป็นบริษัททดลองยาไบโอเทค โดดเด่นทางด้านการค้นพบ ทดลอง พัฒนา ยาแอนติบอดี้ และไมเกรน อันจะนำสิ่งที่ดีกลับมาสู่ชีวิตของผู้ป่วย ราคาหุ้นพุ่งขึ้น หลังข่าวว่าบริษัทยาสัญชาติเดนมาร์ค ชื่อ บริษัท Lundbeck ประกาศซื้อกิจการด้วยเงินสด ณ ราคา 18 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น สูงกว่าการเปิดเผยในครั้งแรกกว่าเท่าตัว คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ในไตรมาสสี่ปีนี้

2. บริษัท Edwards Lifesciences เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ซ่อมแซมหัวใจ ระบบหลอดเลือด ราคาหุ้นซื้อขายสูงขึ้นหลังวิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบใหม่ชื่อว่า trans-catheter aortic valve replacement หรือ TAVR ได้รับความนิยมสูง ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปิดทรวงอกอีกต่อไป เป็นเพียงแค่การสอดท่อเข้าไปในหลอดเลือดใหญ่จากโคนขาหนีบเข้าไปยังตำแหน่งลิ้นหัวใจ เพื่อทดแทนวาล์วลิ้นหัวใจเดิมที่ทำหน้าที่บกพร่อง

3. บริษัท Bristol-Myers Squibb วิจัย พัฒนา ยารักษาโรคร้ายแรง ราคาหุ้นสูงขึ้นจาก Sentiment ตลาดในเรื่องการเข้าซื้อกิจการบริษัทยา Celgene ที่กำลังใกล้เข้ามา นอกจากนี้บริษัทเปิดเผยว่าการขายทรัพย์สินของ Celgene ในส่วนของ Otezla ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการต่อต้านการผูกขาดด้านการทำธุรกิจนั้นจะให้มีรายได้มากกว่าที่คาดไว้

มุมมองด้านการลงทุนของกองทุนหลัก

Wellington Global Healthcare Equity Fund

กองทุนหลักมองกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ว่าแข็งแกร่ง โดยสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้มีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน มีความต้องการเข้าถึงเฮลธ์แคร์ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเคสที่หมอให้การรักษาเยียวยา จำนวนผู้ป่วยใน จำนวนผู้ป่วยนอก การปะทุของนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาทดแทนการรักษาแบบดั้งเดิม กระนั้นก็ดี ปีค.ศ. 2020 สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี คาดว่านโยบายด้านเฮลธ์แคร์จะตกเป็นเป้าหมายของนักการเมืองรวมถึงสื่อและสิ่งพิมพ์หลายแขนงและจะสร้างความผันผวนให้กับหุ้นกลุ่มนี้ในระยะสั้น เห็นได้จากข้อเสนอร่าง Medicare for all และการเล่นงานราคายา จนส่งผลกระทบต่อกลุ่มเฮลธ์แคร์เป็นวงกว้าง

1. ในห้วงเวลาที่การรณรงค์ของนักการเมืองต่อร่าง Medicare for all ดำเนินไปอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ โอกาสที่จะเกิดขึ้นจริงถึงขั้นออกเป็นกฎหมายแทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจาก ประการแรก แรงหนุนจากนักการเมืองถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายในสภาผู้แทนและวุฒิสภา ทำให้ขั้นตอนขอความเห็นชอบจากเสียงสองในสามของวุฒิสภาดูเลือนลาง ประการที่สอง ยังไม่มีใครกล้าระบุค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณที่แน่ชัดเนื่องจากต้นทุนการทำ Medicare for all สูงเกินกว่าที่งบประมาณและการขึ้นภาษีจะรองรับไหว ประการที่สาม ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับระบบประกันสุขภาพที่มีอยู่แล้ว

2. การเล่นงานราคายา ในประเด็นนี้มีความแตกต่างจาก Medicare for all เพราะนักการเมืองสหรัฐฯ ทั้งสองฟากต่างสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วยกันทั้งคู่ กองทุนหลักคาดว่าทรัมป์ จะใช้อำนาจบริหารซึ่งไม่ต้องเสียเวลาผ่านการออกกฏหมายให้ยากเย็น แนวทางดังกล่าวจะเพิ่มความเป็นธรรมาภิบาลและความโปร่งใสให้เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายหันมาใส่ใจกับคุณภาพการรักษาโรคมากกว่าเน้นที่ปริมาณ (Volume Growth) เป็นหลัก กองทุนหลักมีฐานะลงทุนในบริษัทยาที่อยู่ในกลุ่มที่เน้นคุณภาพอยู่แล้วจึงไม่เป็นที่น่ากังวล

3. ท้ายสุดคือการอนุมัติยาขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA: Food and Drug Administration) ที่ได้อนุมัติตัวยาในปี ค.ศ. 2018 สูงเป็นประวัติการณ์ บริษัทด้านเภสัชกรรมยาทั่วไปและไบโอเทค ยังมีทิศทางที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการลงทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำยาออกสู่ตลาด ด้วยพื้นฐานของนวัตกรรมรวมถึงการควบรวมองค์ความรู้ผ่านการควบรวมกิจการ (M&A) ทำให้กองทุนหลักมั่นใจว่าโอกาสด้านการลงทุนซึ่งมีอยู่หลายแขนง อาทิ วิทยาการทางด้าน Life science เป็นต้น จะช่วยสนับสนุนธุรกิจทั้งต้นน้ำและปลายน้ำของผู้ผลิตยาไบโอเทค

โดยสรุปในระยะยาวโกลบอลเฮลธ์แคร์ยังไปได้สวยจากปัจจัยของนวัตกรรม โครงสร้างประชากรสูงวัย และอุปสงค์ตลาดโลกต่อแนวทางการรักษาแบบใหม่

Source: Wellington Management, November 2019

กลยุทธ์ของ Wellington Global Health Care Equity Portfolio

เน้นการเติบโตของเงินลงทุนผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ทำธุรกิจด้านเฮลธ์แคร์ ด้วยการลงทุนที่หลากหลายทั้งในธุรกิจย่อย (Sub-Sector) มูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ลงทุน และภูมิภาคต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก

กองทุนหลัก (Master Fund)

ชื่อ: Wellington Global Health Care Equity Portfolio ชนิดหน่วยลงทุน Class S (Accum-USD)

วัตถุประสงค์การลงทุน: แสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวในหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ทั่วโลก

Investment style:

  • คัดสรรหุ้นรายตัวแบบ Bottom up ด้วยปัจจัยพื้นฐาน
  • เน้นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการแข็งแกร่ง

วันจดทะเบียน: October 2003

ประเทศที่จดทะเบียน: ไอร์แลนด์

สกุลเงิน: USD

เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark): MSCI World Healthcare Net

Morningstar Category: Large cap growth

Bloomberg (A): WGHCEPA ID

Fund Size: USD 2.1 billion as of September 2019

NAV: USD 56.42 as of September 2019

Number of holdings: 137 as of September 2019

ผลการดำเนินงานกองทุนย้อนหลัง (ข้อมูลเดือน ก.ย. 2019)

ประเด็นข่าวที่น่าสนใจ

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. อดีตรองประธานาธิบดี นาย โจ บิดเดน และ วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครท นางเอลิซาเบท วอร์เรน ได้เปิดอภิปรายในรายการ Late-night TV Shows ว่าเธอเตรียมที่จะเปิดเผยแผน/ข้อเสนอเฮลธ์แคร์ที่ร่างขึ้น โดยมีใจความว่า ครอบครัวชาวอเมริกันล้วนเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเจ็บป่วย ร่างข้อเสนอ Medicare for All ของเธอ จะผลักต้นทุนกลับไปให้กับผู้มีความมั่งคั่งสูงและบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีรายได้มาก ขณะที่คนซึ่งอยู่ในครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ ควรมีต้นทุนชีวิตที่ลดลงเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวอเมริกันจึงควรเสียเงินไปกับรายจ่ายด้านเฮลธ์แคร์ลดลง หากใช้กลไกที่เธอเรียกว่า หนึ่งประเทศหนึ่งระบบ (single-payer system)

แน่นอนว่าบริษัทเฮลธ์แคร์ที่อยู่ในกลุ่มประกันสุขภาพ (Managed health care) ราคาร่วงลง เพราะตลาดมองว่าจะสูญเสียรายได้ค่าเบี้ยประกัน (พรีเมี่ยม) ตัวอย่างเช่น บริษัท Anthem (กองทุนหลักมีสัดส่วนลงทุน 4.3%), บริษัท Aetna, บริษัท CVS Health

ทั้งนี้ Wellington Global Healthcare Equity Fund มองว่าพื้นฐานเฮลธ์แคร์แข็งแกร่งมาก โดยมีความคืบหน้าในวงการแพทย์ล่าสุดอันจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีเป้าหมายลงทุนหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ในระยะยาวดังนี้คือ

1. บริษัทที่อยู่ในกลุ่มเฮลธ์แคร์มีนวัตกรรมที่กำลังจะดิสรัป (Disruptive) การทำตลาดรูปแบบเก่า โดยจะทำให้รูปแบบของผู้ให้บริการ (บริษัทยา โรงพยาบาล บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือเทคโนโลยี) และผู้ใช้บริการ (ผู้ป่วย) เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น

2. ความต้องการทั่วโลกต่อการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ (Robotic surgery) และ การตรวจเลือดที่สามารถวิเคราะห์ผลสุขภาพของคนได้ในระดับยีน (Genetic sequencing) กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง – ปัจจุบัน แพร่หลายเฉพาะในสหรัฐฯ และมีโอกาสขยายไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน

2.1 Robotic surgery

มีความแม่นยำสูง ผู้ป่วยจะมีบาดแผลเล็กมาก การสอดใส่ทำได้ในพื้นที่เล็กๆ พักอยู่โรงพยาบาลไม่กี่วันก็กลับบ้านได้ ห้องผ่าตัดใช้ทีมงานหมอวิสัญญีไม่กี่คน ได้รับความนิยมในวงการแพทย์สหรัฐฯในโรค

2.1.1 ระบบทางเดินปัสสาวะ (Urology)
2.1.2 ศัลยศาสตร์ผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery)
2.1.3 การผ่าตัดกระดูกสันหลัง (Spine surgery) กระดูกสันหลังทับเส้นประสาทด้วยหุ่นยนต์

ปัจจุบันมีเพียง 5% ของผู้เข้ารับการรักษาใช้วิธีนี้ กองทุนหลักคาดว่าตลาดนี้ควรจะโตคิดเป็นสัดส่วน 30%

ตลาด Robotic surgery ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์จำนวน 300 ตัว ให้การรักษาอยู่ในโรงพยาบาล

2.2 ตรวจวิเคราะห์เลือดระดับยีน (Genetic sequencing)

เป็น Game changer ในตลาด Mass เพราะค่าใช้จ่ายลดลงจาก 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ครั้ง (หรือประมาณ 9 พันล้านบาท) เมื่อ 15 ปีก่อน เหลือเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ครั้ง (ประมาณเพียง 30,000 บาท) ทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือการแพทย์ (Medical Technology) เช่น แผ่นฟิลม์กระจก อุปกรณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางพันธุเคมี ในวงการแพทย์ต่างให้ความหวังว่า วิธีนี้จะสามารถระบุเนื่อเยื่อ (Tumor) ที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งได้ก่อน เพราะหากพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว วิธีรักษาจะเป็นรูปแบบที่ Advance ขึ้น

3. พัฒนาการด้านการรักษาโรคหัวใจ และเบาหวาน มีความก้าวหน้าขึ้นจากเดิม

3.1 โรคหัวใจ (Heart disease)

เมื่อคนอายุมากขึ้น มีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจโดยไม่รู้ตัว โดยมีโอกาสสูงที่จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า aortic stenosis ลิ้นหัวใจ Aortic ตีบเป็นโรคทางหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจ Aortic เปิดได้ไม่เต็มที่ เส้นเลือดแดงใหญ่ Aorta เป็นเส้นเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจไปสู่ทั่วร่างกาย เมื่อลิ้นหัวใจ Aortic ไม่สามารถเปิดออกได้อย่างเต็มที่ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติเพื่อให้สูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้เท่าเดิม ทำให้อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

ปัจจุบัน แทนที่จะผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก หมอจะหันมาใช้กระบวนการรักษาด้วยวิธีใหม่ที่ปลอดภัยกว่าซึ่งเรียกว่า Transcatheter aortic valve replacement (TAVR) ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก สามารถดูได้ที่ https://youtu.be/LiwnmScVO7g

3.2 โรคเบาหวาน (Diabetes)

วิวัฒนาการใหม่ในแขนงนี้คือ Automated insulin delivery (AID) ซึ่งเป็นการใช้ซอฟต์แวร์ร่วมกันกับ 2 วิธีเดิมคือ Continuous Glucose Monitoring (CGM) และเครื่องปั้มอินซูลิน (Insulin pumping)

เป็นการปรับค่าให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของผู้ป่วย

Source:

1. https://www.wsj.com/articles/democrats-push-elizabeth-warren-for-plan-to-pay-for-medicare-for-all-11570982403

2. https://edition.cnn.com/2019/09/14/politics/elizabeth-warren-health-care-plan-medicare-for-all/index.html

3. https://edition.cnn.com/2019/09/12/politics/2020-democrats-health-care/index.html