ส่องทิศทางเศรษฐกิจอาเซียนปี 2020 ตอน มาเลเซีย

BF Asean Corner

ไตรมาส 3 GDP มาเลเซีย ออกมาที่ 4.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2018 แต่ชะลอตัวลงเมื่อไปเทียบกับครึ่งปีแรกปีนี้ ที่เติบโต 4.7% โดยตัวที่ชะลอลงมา หลักๆ มาจากการบริโภคในประเทศ และการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่มีความขัดแย้งกัน ซึ่งก็เริ่มเห็นชัดว่าส่งผลมาที่มาเลเซียแล้ว อีกประเด็นคือเรื่องการก่อสร้าง โดยตั้งแต่มาเลเซียได้รัฐบาลชุดใหม่มา ก็มีการชะลอการลงทุน และลดมูลค่าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ เพื่อลดหนี้สาธารณะลง เพราะมองว่ารัฐบาลชุดเก่าก่อหนี้ไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ภาคการก่อสร้างโดยรวมของมาเลเซียชะลอลงต่อเนื่อง

สำหรับปีหน้า เมื่อมอง Sentiment ต่างๆ อาจจะดูดีขึ้น แต่ตัวเลข เราให้ใกล้เคียงกับปี 2019 โดยในปีนี้มองว่าทั้งปีน่าจะเติบโต 4.5% ส่วนปีหน้า มองว่าจะเติบโต 4.4% คือเติบโตในอัตราใกล้เคียงกัน โดยมองว่า โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของมาเลเซียจะเริ่มกลับมา เพราะว่าครึ่งปีหลัง รัฐบาลเพิ่งประกาศว่าจะกลับมาลงทุนหลายโปรเจ็ก สร้างทางรถไฟ ถนน ซึ่งก็น่าจะช่วยให้การลงทุนปีหน้าดีขึ้นของฝั่งภาครัฐ และอาจส่งผลไปถึงเอกชนทำให้มีความคึกคักมากขึ้นในการลงทุน ทำให้มองว่าการลงทุนน่าจะมาในปีหน้า

ขณะที่ การส่งออกน่าจะยังมีผลกระทบจากสงครามการค้าอยู่ ที่จะส่งผลต่อมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่มองว่าการส่งออกก็น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ อย่างไรก็ตาม ด้านการนำเข้า ซึ่งมีกิจกรรมการลงทุนในประเทศมากขึ้น ก็อาจจะต้องการสินค้าทุนนำเข้ามามากขึ้น ทำให้ตัวเลข ส่งออก-นำเข้า อาจจะลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อมาเลเซีย ไม่มีความน่ากังวลว่าจะเติบโตเกินกรอบที่ธนาคารกลางวางไว้ โดยในปีนี้ เรามองว่าเงินเฟ้อเติบโต 0.8% ส่วนปีหน้ามองไว้ว่าจะเติบโต 2% ถือว่าไม่ได้สูงไปมาก 4-5% ยังไม่มีความน่ากังวล เพียงแต่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมาจากหลายปัจจัย อย่างแรกคือ ผลของฐานต่ำเริ่มหมดไปแล้ว จากการเปลี่ยนระบบภาษีในมาเลเซีย หลังจาก ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และปีหน้ารัฐบาลมาเลเซียจะมีการขึ้นภาษี digital service tax ดังนั้นก็น่าจะช่วยทำให้เงินเฟ้อกลับมา อีกประเด็น เป็นเรื่องราคาน้ำมันค้าปลีก ซึ่งรัฐบาลจะอุดหนุนลดลง ทำให้ราคาน้ำมันอาจเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้นมา

ทั้งนี้ ในปีหน้า เรามองว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งที่ 25 bsp จาก 3.0% เป็น 2.75% โดยหลักๆ เรามองว่า statement ล่าสุดของธนาคารกลางมาเลเซีย ออกมาพูดในโทนที่ยังพร้อมผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดยมองว่ามีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ จึงมองว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง

นอกจากนโยบายการเงิน หากมองนโยบายการคลัง ค่อนข้างเป็นภาพที่ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเมื่อเป็นรัฐบาลใหม่ต้องการลดหนี้สาธารณะลง ทำให้เราคาดว่า เมื่อทำงบประมาณใหม่คงจะทำงบประมาณไม่ได้ออกมามากเหมือนปีก่อนๆ เพื่อลดหนี้ แต่เมื่องบประมาณออกมาก็ดีกว่าที่เราคาดไว้ คืออยู่ที่ -3.2% ของ GDP โดยตอนแรกรัฐบาลออกมาระบุว่าอาจจะอยู่ที่ -3% แต่เมื่อตัวเลขออกมา -3.2% ก็ถือว่ามีเม็ดเงินออกมามากขึ้น เรามองว่าเป็นภาพบวกต่อเศรษฐกิจ และอย่างที่บอกว่าการลงทุนภาครัฐต่างๆ น่าจะกลับมา ซึ่งตรงนี้น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างมาก

ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามนั้น ได้แก่ สงครามการค้า ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการลงนามข้อตกลงร่วมกันเฟสแรก แต่เรามองว่าในอนาคตน่าจะมีความผันผวนระหว่างทาง ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการส่งออก จึงเป็นปัจจัยภายนอกที่จะมากระทบกับมาเลเซีย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น ความเสี่ยงหลักๆ เป็นเรื่องประเด็นการเมือง หลังรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา แล้วดร.มหาเธร์ กล่าวไว้ว่าอาจจะอยู่ในตำแหน่ง 3 ปีหลังการได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนนายอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเป็นตัวแทนที่จะมาสืบทอดตำแหน่งจากดร.มหาเธร์ ระบุว่า จะเข้ามาอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี หลังจากที่ ดร.มหาเธร์ ดำรงตำแหน่ง ซึ่งอาจพูดไม่ตรงกันกับ ดร.มหาเธร์ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นว่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่าน ถ่ายโอนอำนาจจาก ดร.มหาเธร์ ไปยังนายอันวาร์ เมื่อไหร่ ซึ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน อาจทำให้การลงทุนหยุดชะงักได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน เพราะภาคธุรกิจอาจอยู่ในช่วงดูสถานการณ์ เพราะยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ก็อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของปีหน้า