อินโดนีเซียเล็งกำหนดค่าธรรมเนียมคงที่สำหรับการทำธุรกรรมผ่านอี-วอลเล็ท

อินโดนีเซียเล็งกำหนดค่าธรรมเนียมคงที่สำหรับการทำธุรกรรมผ่านอี-วอลเล็ท

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า อินโดนีเซียวางแผนจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราคงที่กับการทำธุรกรรมบางรายการผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ท) ซึ่งความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้ อาจกระทบรายได้และเพิ่มต้นทุนให้สตาร์ทอัพด้านการชำระเงิน เช่น แอนท์ ไฟแนนเชียล บริษัททางการเงินในกลุ่มอาลีบาบา โดยปัจจุบันผู้ให้บริการอี-วอลเล็ทในอินโดนีเซีย  จัดเก็บค่าธรรมเนียมโดยปรับตามความเหมาะสมกับผู้ขาย มีการเก็บค่าธรรมเนียมพรีเมียมกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ และยอมรับภาระต้นทุนให้ร้านค้าเล็กๆ เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาหันมาใช้แพลตฟอร์ม

ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย พูดคุยกับสตาร์ทอัพการชำระเงินดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดในประเทเรียบร้อยแล้ว เกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านคิวอาร์โค้ด ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้เกิดตั้งแต่เดือน ส.ค. 2019 เพื่อสร้างมาตรฐานการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้บาร์โค้ดแบบเมทริกซ์ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้

สำหรับผู้นำอี-วอลเล็ทในอินโดนีเซีย ก็คือสตาร์ทอัพด้านการแบ่งปันการขับขี่ที่มีต้นกำเนิดในอินโดนีเซียอย่าง Gojek ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกูเกิล นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า OVO ที่มี Grab คู่แข่งของ Gojek ถือหุ้น ขณะที่อี-วอลเล็ทของแอนท์ ไฟแนนเชียล ชื่อว่า DANA ก็พยายามขยายตลาดนี้ เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มชำระเงินของรัฐที่ชื่อ่า LinkAja

ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียต้องการเก็บค่าธรรมเนีมการทำธุรกรรมผ่านอี-วอลเล็ท แบบคงที่ในอัตรา 0.7% โดยอาจส่งผลกระทบต่อร้านคารายเล็กที่ปัจจุบันยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใดๆ สำหรับการใช้เครือข่ายอี-วอลเล็ท หรืออาจเป็นการบังคับให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องเพิ่มแรงจูงใจในการใช้บริการกับร้านค้าเหล่านี้ ส่วนผู้ขายรายใหญ่ เช่น สตาร์บัคส์ ปัจจุบันเสียค่าธรรมเนียม 2% หากจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราคงที่ดังกล่าว อาจกระทบรายได้บริษัทอี-วอลเล็ทได้

ทุกวันนี้สตาร์ทอัพทุ่มงบหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในการให้แรงจูงใจกับผู้ขายต่างๆ ในอินโดนีเซียให้ใช้อี-วอลเล็ท โดยในอินโดนีเซีย อุตสาหกรรมการชำระเงินดิจิทัลมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตมากกว่าครึ่งหนึ่งจากประชากรเกือบ 270 ล้านคน ที่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร ขณะที่มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียในปี 2019 อยู่ที่ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 3 เท่าภายในปี 2025 ตามรายงานที่จัดทำโดยกูเกิล เทมาเส็ก และเบน แอนด์ โค