วางแผนการเงินรับปีใหม่ง่ายนิดเดียว

วางแผนการเงินรับปีใหม่ง่ายนิดเดียว

วางแผนการเงินรับปีใหม่ ง่ายนิดเดียว

โดย  พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

ทุกครั้งเมื่อใกล้ถึงปีใหม่ เรามักเห็นเพื่อนๆ เขียนถึง New Year’s Resolutions หรือ ปณิธานการดำเนินชีวิตสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง บางคนอาจสงสัยว่า “ปณิธานปีใหม่นั้นมีประโยชน์อย่างไร?”…ปณิธานปีใหม่เปรียบเสมือนการตั้งเป้าหมายชีวิต ทำให้เรารู้ทิศทางการใช้ชีวิต และเห็นภาพในอนาคตของตัวเองชัดเจนมากขึ้น โดยเป้าหมายชีวิตที่ดีและมีความสุข คือเป้าหมายที่มีความสมดุลกันระหว่างสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพทางการเงิน

ปณิธานในการทำให้สุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพใจเบิกบานนั้นทำได้ไม่ยาก แต่ปณิธานทางการเงินที่จะทำให้สุขภาพทางการเงินแข็งแรงนี่สิ แค่คิดเฉยๆ ก็ปวดหัวแล้ว แต่เชื่อเถอะว่าทุกคนสามารถทำได้ ไม่ยากด้วยหลัก 5 ทวน นั่นคือ ทวนตัวเอง ทวนการออม ทวนการจ่าย ทวนการลงทุน และทวนแผนอนาคต

ทวนตัวเอง – สำหรับคนที่เขียน New Year’s Resolutions ในปีก่อน ลองตรวจสอบว่าปีที่ผ่านมาสามารถทำเป้าหมายใดสำเร็จบ้าง? บันทึกสาเหตุที่ทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จและไม่สำเร็จลงบนกระดาษ เพื่อประมวลตัวเองในปีที่ผ่านมา

ทวนการออม – ในปีที่ผ่านมามีวินัยในการออมหรือไม่? และมีเงินสำรองฉุกเฉิน 3 – 6 เท่าหรือยัง? โดยเชื่อว่าส่วนใหญ่มีการออม แต่เป็นไปในลักษณะออมบ้างไม่ออมบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง  ดังนั้น เมื่อมาคิดทบทวนปลายปีอาจพบว่าเงินออมมีไม่ถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้ก็ได้ สำหรับคนที่ยังไม่เริ่มออมเพราะอยากรอให้พร้อมกว่านี้ก่อน ขอแนะนำให้เริ่มออมเลยเพราะการออมเป็นการสร้างรากฐานความมั่นคงทางการเงิน คำว่าไม่พร้อมออมคือ มีภาระค่าใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือนในสิ่งที่จำเป็น แต่หากสามารถไปเที่ยวได้ปีละหลายๆ ครั้ง ซื้อมือถือเครื่องใหม่ จัดเต็มบุฟเฟต์ ฯลฯ ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะเริ่มต้นออมเงินแล้ว โดยทางเลือกในการออมมีให้เลือกหลายอย่างทั้ง ออมทรัพย์ ฝากประจำ สลากรางวัล หรืออาจเป็นการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งอาจใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ด้วยการลงทุนผ่านระบบอัตโนมัติ DCA

ทวนการจ่าย – หัวข้อนี้สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะหากรายจ่ายเยอะในเรื่องที่ไม่จำเป็น จะส่งผลให้แผนทางการเงินสำเร็จได้ยากมาก เปรียบเสมือนตุ่มน้ำที่มีรอยรั่วเต็มไปหมด เติมรายได้เข้าไปในตุ่มเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ซึ่งในส่วนนี้สามารถปรับปรุงได้ด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและปรับให้เป็นเงินออมหรือเงินลงทุน

สำหรับผู้ที่มีภาระหนี้ ขอให้ลองบริหารจัดการหนี้ให้ดี โดยหนี้ดีที่ก่อให้เกิดรายได้หรือเพื่ออำนวยปัจจัย 4 เช่น บ้านเพื่ออยู่อาศัย ให้บันทึกรายการเป็นค่าใช้จ่ายประจำ แต่หนี้ไม่ดีที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้ผ่อนสินค้า หนี้บัตรเครดิต ขอให้พยายามเก็บออมเพื่อหาเงินมาปิดรายการหนี้ให้เร็วที่สุด

ทวนการลงทุน – สำหรับพนักงานประจำ ส่วนแรกที่อยากให้พิจารณาคือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หรือ Provident Fund โดยบริษัทจัดการจะนำส่งผลการดำเนินงานให้เราอีกครั้งปลายปี (ปกติส่งทุก 6 เดือน)

ในส่วนนี้อยากให้ลองพิจารณาพอร์ตการลงทุนอีกครั้งว่าปัจจุบันผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร? สัดส่วนของสินทรัพย์เพื่อการลงทุนยังสอดคล้องกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่เรารับได้หรือเปล่า? หากไม่เป็นไปตามที่ต้องการก็ถือโอกาสนี้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน (Portfolio Rebalancing) ซึ่งนับเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้กับตัวเองด้วย

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีประโยชน์มาก จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและปรับทัศนคติใหม่ จากเดิมที่ไม่อยากให้หักเงินสะสมรายเดือนคราวละมากๆ ปรับความคิดใหม่ว่าการหักเงินสะสมนี้คือ “การสร้างวินัยการลงทุนระยะยาว” หากไม่มีข้อจำกัดทางการเงินใดก็อยากให้เพิ่มเงินสะสม (ปัจจุบันเงินสะสมของลูกจ้างอยู่ที่ 2 – 15% ของเงินเดือน) และพิจารณาปรับสัดส่วนของสินทรัพย์เพื่อการลงทุนให้สอดคล้องกับการลงทุนระยะยาว เช่น เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น  อสังหาฯ และ REITs เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน โดยปัจจุบันหลายบริษัทเปิดกว้างให้พนักงานเลือกสินทรัพย์และจัดสัดส่วนการลงทุนได้ด้วยตัวเอง (Employee’s Choice)  ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

นอกจากนี้ อยากให้ทุกคนกลับมาทบทวนพอร์ตลงทุนตามเป้าหมายด้วย  ทั้งพอร์ตลงทุนระยะสั้น – ปานกลาง – ยาว  และพอร์ตลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี โดยเริ่มต้นจากการทบทวนเป้าหมายการลงทุนว่ายังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ จากนั้นจัดพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับปัจจุบัน  เช่น เป้าหมายระยะยาว 7 ปีของเรา

เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี เป้าหมายก็จะกลายเป็นเป้าหมายระยะปานกลาง การจัดพอร์ตลงทุนควรต้องปรับลดสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงให้น้อยลง ควบคู่ไปกับการพิจารณาผลการดำเนินงานด้วยว่าเป็นไปตามคาดหวังหรือเปล่า จะได้พิจารณาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องสถานการณ์ลงทุนในปัจจุบัน

สำหรับการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี อาจต้องทบทวนใหม่ตามเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น (หลักการคือ เงินเดือนเพิ่มควรออม/ลงทุนเพิ่ม) ซึ่งส่งผลต่อจำนวนเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิการลงทุนในกองทุนและประกันที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น  นอกจากนี้ เงินลงทุนเดิมก็สามารถทบทวนเพื่อบริหารจัดการได้เช่นเดียวกัน ด้วยการสับเปลี่ยนกองทุนภายใต้ประเภทเดียวกันสำหรับการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี อาจต้องทบทวนใหม่ตามเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น (หลักการคือ เงินเดือนเพิ่มควรออม/ลงทุนเพิ่ม) ซึ่งส่งผลต่อจำนวนเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิการลงทุนในกองทุนและประกันที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น นอกจากนี้ เงินลงทุนเดิมก็สามารถทบทวนเพื่อบริหารจัดการได้เช่นเดียวกัน  ด้วยการสับเปลี่ยนกองทุนภายใต้ประเภทเดียวกัน

ทวนแผนอนาคต – โดยแผนอนาคตที่สำคัญที่สุดคือ “เกษียณสุข”  ซึ่งเป็นแผนที่ต้องใช้เงินมาก แต่สามารถเป็นจริงได้   ด้วยการเริ่มลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ และใช้เครื่องมือการลงทุนที่เหมาะสมอย่างกองทุนรวม เพราะมีนโยบายลงทุนให้เลือกหลากหลาย  มีมืออาชีพช่วยบริหารจัดการ  อีกทั้งยังใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก  ขอแค่มีวินัยและทำทันที  ทุกคนก็สามารถประสบความสำเร็จได้

ไม่ว่า Financial New Year’s Resolutions ของคุณจะเป็นอะไร?  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือลงมือทำ เป้าหมายที่ดีคือ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง  ไม่ยาก ไม่ง่ายจนเกินไป มุ่งเน้นพัฒนาให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพทางการเงิน กันอย่างสมดุล สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จได้ด้วยความคิดที่ดี ความุ่งมั่น และลงมือทำอย่างมีวินัย สวัสดีปีใหม่ 2563 ขอให้เป็นปีที่ดีและประสบความสำเร็จดังใจ