ใครได้ ใครเสีย ในข้อตกลงการค้าจีนและสหรัฐฯ

ใครได้ ใครเสีย ในข้อตกลงการค้าจีนและสหรัฐฯ

สหรัฐฯ และจีนลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทำเนียบขาว ในวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไม่ได้เดินทางมาร่วมลงนามด้วยตัวเอง แต่ให้นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนจีนลงนามในข้อตกลงการค้าแทน ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ ทรัมป์ เป็นผู้ลงนามเอง

ภาพที่ปรากฎทำให้ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า จีนไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อตกลงการค้าที่ตกลงกันแบบครึ่งๆ กลางๆ กับสหรัฐฯ ในขณะที่ทรัมป์ต้องการได้ข้อตกลงการค้านี้มากกว่าฝ่ายจีน เพื่อเอาไปโชว์ให้คนอเมริกันเห็นในฤดูหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีว่า เขาสามารถบีบจีนให้บรรลุข้อตกลงการค้าได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อตกลงที่ไม่สมบูรณ์ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงยอมลดตัวเองลง เพื่อลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับตัวแทนฝ่ายจีน ที่มีตำแหน่งเพียงระดับรองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น และเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับประธานาธิบดีสี

ในข้อตกลงเฟสแรกนี้ จีนตกลงที่จะเพิ่มการซื้อสิ้นค้าและบริการจากสหรัฐฯ และจะเปิดกว้างตลาดการเงิน และตลาดรถยนต์ของจีน แต่ทุกประเทศจะได้ประโยชน์หมดจากนโยบายนี้ ทำให้จีนสามารถอ้างได้ว่า ไม่ได้เปิดตลาดตามแรงกดดันของสหรัฐฯ ส่วนสหรัฐฯ จะไม่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก แต่จะยังคงภาษีที่เรียกเก็บก่อนหน้านี้ส่วนมาก

โดยเนื้อหาหลักแล้ว จีนให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2017 ภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า โดยจะซื้อสินค้าเกษตรมูลค่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าอุตสาหกรรม 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พลังงาน 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริการ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ จีนจะเข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายปกป้องสิทธิทางปัญญามากขึ้น และจะอำนวยความสะดวกทางขบวนการยุติธรรมให้บริษัทที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์สามารถฟ้องร้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

สหรัฐฯ จะยังคงเก็บภาษี 25% สำหรับปริมาณการนำเข้าจากจีนประมาณ 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนจะยังคงเรียกเก็บภาษีส่วนมากสำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในปริมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผู้ที่ได้ในข้อตกลงการค้าเฟสแรกนี้ คือ ทรัมป์ เพราะว่าสามารถเอาเรื่องนี้ไปหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ สี จิ้นผิงก็ได้ เหมือนกัน เพราะว่าอย่างน้อยสหรัฐฯ จะไม่เพิ่มกำแพงภาษีล็อตใหม่ ข้อตกลงการค้าเฟสแรกจะช่วยทำให้ความคลุมเครือหลายอย่างลดลงไป สำหรับความมั่นใจในเศรษฐกิจจีน

ผู้ที่เสีย คือ ผู้นำเข้า และผู้บริโภคอเมริกัน ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มจากกำแพงภาษีของทรัมป์ถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ตามรายงานของ Congressional Budget Office กำแพงภาษียังทำให้จีดีพีของสหรัฐฯ ลดลง 0.3%

ผู้ที่เสียหนักที่สุด คือ ชาวนาสหรัฐฯ เพราะว่าที่ผ่านมาจีนตอบโต้ด้วยการยกเลิกนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง ทำให้มีชาวนาจำนวนมากต้องล้มละลาย รัฐบาลกลางต้องใช้เงิน 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปอุ้มชาวนาให้พออยู่ได้

ไต้หวัน เวียดนาม และเม็กซิโก ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ผ่านมา เพราะว่า สหรัฐฯ มีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มจาก 3 ประเทศนี้ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีนที่สินค้ามีราคาสูงขึ้นจากกำแพงภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า และมีบริษัทอเมริกันหลายแห่งต้องการย้ายฐานผลิตมายังเวียดนาม เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษี