ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับไวรัสโคโรนากระจายไปทั่วโซเชียลมีเดีย

ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับไวรัสโคโรนากระจายไปทั่วโซเชียลมีเดีย

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบตลาดการเงิน รวมทั้งทำให้มีการจำกัดการเดินทาง ขณะที่ผู้คนติดตามเรื่องนี้อย่างจดจ่อบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็พบว่า มีข้อมูลผิดๆ หรือเป็นอันตรายเกี่ยวกับเรื่องนี้กระจายเป็นวงกว้าง โดยนักวิจัยและสื่อมวลชน เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการให้ข้อมูลผิดพลาดเรื่องไวรัสนี้ที่กำลังขยายตัวอยู่ มีตั้งแต่อธิบายต้นตอของโรคที่ผิดๆ รวมทั้งการกล่าวอ้างวิธีรักษาแบบมหัศจรรย์ ขณะที่นักทฤษฎีสมคบคิดหวังใช้ความหวาดกลัวเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นแรงขับเคลื่อนคนไปยังบัญชีของพวกเขา เพื่อรับข้อมูลข่าวสารร้ายๆ ที่มีเต็มไปหมด

“นี่คือการผสมผสานอย่างสมบูรณ์ของความกังวล ประเด็นชนชาติ ความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล และเภสัชกรรม โดยผู้คนต่างไม่เชื่อมั่นคำบอกเล่าจากทางการ” Maarten Schenk ผู้ร่วมก่อตั้ง Lead Stories เว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าว

สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่นของจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 132 คน และมีผู้ติดเชื้อไวรัสตัวนี้แล้วมากกว่า 6,000 คน ใน 19 ประเทศ

“ข่าวลือเดินทางไปได้รวดเร็วกว่า และกว้างขวางกว่าที่เคยทำได้ในยุคก่อนมีโซเชียลมีเดีย” Thomas Rid ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การศึกษาของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งเคยออกหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การบิดเบือนข้อมูล กล่าว

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์พยายามสกัดข้อมูลไม่ดีเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการนำผู้ใช้งานไปยังแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยเมื่อค้นหาคำว่า ‘coronavirus’ จะนำไปยังเว็บไซต์ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด ขณะที่พันธมิตรตรวจสอบข้อเท็จจริงของเฟซบุ๊ก ได้ติดฉลากแสดงข้อมูลที่มีปัญหาบนแพลตฟอร์มนี้ แสดงให้ผู้ใช้งานรู้ว่านี่คือข้อมูลที่ผิด นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังเตือนผู้คนที่อาจแบ่งปันข้อมูลผิดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

ส่วนกูเกิลของอัลฟาเบท ก็จัดทำแถบพิเศษด้านบน เพื่อดึงผู้คนเชื่อมโยงไปยังศูนย์ควบคุมโรค ขณะที่ ยูทูบ ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ถูกค้นหาวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับข่าวนี้ เพื่อนำไปใช้ในสื่อหลัก หากพบว่ามีคลิปที่ถูกนำไปใช้มากๆ ก็จะติดป้ายกำกับไว้บนเนื้อหาว่าเป็นเนื้อหาที่ “เข้าข่าย” แม้ว่าจะไม่ใช่ข้อมูลผิดไปทีเดียว แต่ถ้ายังไม่ได้รับการยืนยันข้อมูล ยูทูบก็จะใช้อัลกอริธึ่มที่ทำให้จำนวนครั้งในการแนะนำเพื่อเข้าไปชมข้อมูลนั้นน้อยลง