Update : Brexit

Update : Brexit

BF Economic Research

เมื่อวานนี้ สมาชิกรัฐสภายุโรปลงมติเห็นชอบต่อข้อตกลงขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู ของสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะออกจากอียูอย่างเป็นทางการในเวลา 23.00 น.ของคืนวันที่ 31 ม.ค.นี้ตามเวลาในสหราชอาณาจักร หรือช่วงเช้าวันที่ 1 ก.พ. ตามเวลาประเทศไทย หลังจากเป็นสมาชิกมา 47 ปี และใช้เวลาในการหาข้อตกลงเพื่อออกจากอียูมานานมากกว่า 3 ปี

อย่างไรก็ดี นับจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2020 สหราชอาณาจักรยังถือว่าเป็น สหภาพศุลกากร (Customs Union) ภายใต้อียูอยู่เช่นเดิมเพียงแต่จะไม่มีสิทธิมีเสียงในสภายุโรปอีกต่อไป ซึ่งเราเรียกช่วงนี้ว่า ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition Period โดยกฎระเบียบส่วนใหญ่จะยังคงเหมือนเดิมจนกว่าจะสิ้นสุดช่วงเปลี่ยนผ่าน อาทิ การเดินทางเข้าออกประเทศ สิทธิในการอยู่อาศัย/ทำงาน และการค้าโดยไม่มีการตรวจสอบด้านศุลกากร เป็นต้น ในช่วงเวลานี้ ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเจรจาเพื่อหาข้อสรุปรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนับจากนี้ไป โดยคาดว่าการเจรจาจะเริ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นเดือน มี.ค. นี้

แม้ว่าความเสี่ยงจากข้อตกลงการแยกตัวออกจากอียู (Brexit Withdrawal Deal) จะหายไปในที่สุด และทำให้ตลาดคลายความกังวล แต่เราคาดว่า ตลาดจะกลับมาผันผวนมากขึ้นในช่วงการเจรจา เนื่องจากการเจราเพื่อหาข้อสรุปที่ทั้งสองฝ่ายต่างพอใจนั้นเป็นไปได้ยากมากที่จะสำเร็จภายในเวลาเพียงแค่ 10 เดือน และหากว่าไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2020 จะทำให้สหราชอาณาจักรต้องหันมาทำการค้ากับอียูภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะทำให้สินค้าส่วนใหญ่ถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

ทั้งนี้ เรามองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สหราชอาณาจักรจะขออียูขยายช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวออกไป แต่ท่าทีในระยะแรกน่าจะเป็นการไม่ยอมขยายเวลา ตามที่ นายบอริส กล่าวว่า จะเสนอให้มีกฎหมายห้ามการต่ออายุช่วงเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากต้องการเร่งให้เกิดข้อตกลงให้เร็วที่สุด แต่การจบลงของช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านอย่างไร้ข้อตกลงจะส่งผลเสียต่อสหราชอาณาจักรอย่างมาก จนเราคาดว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรน่าจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น โดยสหราชอาณาจักรต้องเสนอขอขยายเวลาภายในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ซึ่งช่วงใกล้ๆ เดือนก.ค. ตลาดมีแนวโน้มเกิดความผันผวนเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของการขอขยายเวลา จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป