เกือบ 6 ปี กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินจากการลงทุนผ่าน BKIND ตอนที่ 1/5

เกือบ 6 ปี กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินจากการลงทุนผ่าน BKIND ตอนที่ 1/5

โดย วรวรรณ ธาราราภูมิ

ประธานกรรมการบริหาร

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด

(กองทุนบัวหลวง)

กองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) จัดตั้งมาตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2557 ปีนี้ก็ 5 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 6แล้ว โดย BKIND เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่ผ่านเกณฑ์ ESG ของ บลจ.บัวหลวง (E คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม / S คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม / G คือ การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน)

กองทุนนี้ นอกจากจะลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว ยังมอบผลตอบแทนทางใจอย่างใหญ่หลวงอีกด้วย เพราะ BKIND แบ่งรายได้จากค่าจัดการกองทุนถึง 40% ไปบริจาคให้โครงการที่จะส่งผลดีโดยตรงต่อสังคม และต่อพวกเราโดยทางอ้อม

ในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ถึงเดือน ม.ค.2563) เรามอบเงินค่าจัดการกองทุน 40% หรือกว่า 40 ล้านบาท ไปสนับสนุน 53 โครงการ ในทุกภูมิภาคของไทย

ผู้ลงทุนอาจจะมีคำถามว่า เงินบริจาคจาก BKIND ไปช่วยเหลืออะไรให้กับสังคมเราไปแล้วบ้าง?

ในโอกาสนี้ เราขอหยิบยกโครงการบางส่วนที่ BKIND เข้าไปมีส่วนร่วม มาเล่าสู่กันฟัง

ทั้งนี้ จะนำเสนอโดยแบ่งตามความช่วยเหลือในด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เด็กและเยาวชน การศึกษาเรียนรู้ สุขภาพ ผู้สูงอายุ เด็กพิเศษ คนพิการ เมืองและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การเกษตร สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลไกการสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม และการต่อต้านคอร์รัปชัน

ด้านสิ่งแวดล้อม

  • ทำให้เกิดต้นแบบโครงการคืนพื้นที่ป่าจำนวน 104 ไร่ ที่ถูกชาวบ้านรุกล้ำใน จ.น่าน โดยให้ชาวบ้านที่ไม่มีพื้นที่ทำกินสามารถมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงผ่านโครงการนาแลกป่า จนเกิดกลไกแรงจูงใจให้เกษตรกรคืนพื้นที่ป่าเพื่อแลกกับการสนับสนุนการปรับพื้นที่เพื่อทำนา และคืนพื้นที่อีก 130 ไร่ (โครงการนาแลกป่า ปีที่สอง)
  • ทำให้เกิดพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ 9 แห่ง กองทุนหมุนเวียนประมงพื้นบ้าน 1 กองทุน ผ่านการส่งเสริมประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์ (โครงการพัฒนาประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์)

เด็กและเยาวชน

  • เด็กที่อยู่ห่างไกลตามชายแดนไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา 2,840 คน ได้รับการปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย และการป้องกัน HIV ผ่านการแสดงละครที่ดึงความสนใจเด็กในโรงเรียนชายแดน โดยเด็กจำนวนหนึ่งในนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่มีโอกาสติดโรคและเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ (โครงการป้องกัน HIV ที่ส่งผลกระทบต่อชายแดนไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา)
  • ขณะที่ เยาวชนสตรี 80 คน ที่เคยเป็นเหยื่อความรุนแรง และผ่านการดูแลจากบ้านพัก มีร่างกายและจิตใจดีขึ้น ได้เรียนและสำเร็จการศึกษาตามช่วงชั้นที่เหมาะกับวัยทุกคน (โครงการบ้านพักเยาวชนสตรี)
  • เกิดแกนนำเด็กและเยาวชนของกลุ่มเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติ 290 คน สามารถพัฒนาตนเองและเป็นแรงบันดาลใจในพื้นที่ และเกิดการริเริ่มพัฒนาพื้นที่ชุมชนสะพานปลา จ.สมุทรปราการ ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะสำหรับเด็ก โดยชุมชนและหน่วยงานในชุมชนมีส่วนร่วม (โครงการส่งเสริมสุขภาวะและพัฒนาทักษะชีวิตแรงงานเด็กต่างชาติและเด็กกลุ่มเสี่ยง)
  • เกิดการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้อาชีพสำหรับเยาวชนที่เคยหลงผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติดใน จ.ชลบุรี (โครงการบ้านต้นรักษ์ เรียนรู้)
  • เกิดกลไกสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยในพื้นที่ห่างไกล 231 คน ได้ฟังการอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 500 เล่ม ทำให้มีสมาธิยาวขึ้น มีความคุ้นเคยและชอบการอ่าน เป็นรากฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพ ใน จ.ลำปางและ จ.สุรินทร์ (โครงการนำหนังสือสู่มือน้อง)
  • เกิดกระบวนการถ่ายทอดความรู้และปลูกฝังเรื่องการรังแกกันของเด็ก ทำให้เด็กนักเรียน 713 คนใน จ.เชียงใหม่และจ.กระบี่ ได้เรียนรู้และถูกปลูกฝังเรื่องการรังแกกัน ทำให้เกิดความเข้าใจและเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการรังแกกันระหว่างเด็กด้วยกัน (โครงการกล้าทำดี)
  • เกิดฐานข้อมูลอาชีพ 118 อาชีพ ที่เยาวชนสามารถใช้ข้อมูลช่วยตัดสินใจเลือกสายการเรียนและอาชีพที่เหมาะกับตนเอง (โครงการฐานข้อมูลอาชีพออนไลน์)
  • ขยายกลไกที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารของเด็กๆ นักเรียนในโรงเรียนที่อยู่บนพื้นที่สูงและห่างไกล ผ่านการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบของวิสาหกิจโรงเรียน สำหรับ 20 โรงเรียน ครู 102 คน นักเรียน 1,007 คน (โครงการความมั่นคงทางอาหารเพื่อเด็กน้อยบนดอยสูง)

สำหรับโครงการด้านอื่นๆ จะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับอะไรบ้างนั้น โปรดติดตามได้ในครั้งถัดไป