เกือบ 6 ปี กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินจากการลงทุนผ่าน BKIND ตอนที่ 4/5   

เกือบ 6 ปี กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินจากการลงทุนผ่าน BKIND ตอนที่ 4/5  

 

โดย วรวรรณ ธาราราภูมิ

ประธานกรรมการบริหาร

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด

(กองทุนบัวหลวง)

กองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) จัดตั้งมาตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2557 ปีนี้ก็ 5 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 6แล้ว โดย BKIND เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่ผ่านเกณฑ์ ESG ของ บลจ.บัวหลวง (E คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม / S คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม / G คือ การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน)

กองทุนนี้ นอกจากจะลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว ยังมอบผลตอบแทนทางใจอย่างใหญ่หลวงอีกด้วย เพราะ BKIND แบ่งรายได้จากค่าจัดการกองทุนถึง 40% ไปบริจาคให้โครงการที่จะส่งผลดีโดยตรงต่อสังคม และต่อพวกเราโดยทางอ้อม

ในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ถึงเดือน ม.ค.2563) เรามอบเงินค่าจัดการกองทุน 40% หรือกว่า 40 ล้านบาท ไปสนับสนุน 53 โครงการ ในทุกภูมิภาคของไทย

ผู้ลงทุนอาจจะมีคำถามว่า เงินบริจาคจาก BKIND ไปช่วยเหลืออะไรให้กับสังคมเราไปแล้วบ้าง?

สำหรับเรื่องราวที่นำเสนอไปแล้ว ทั้ง 3 ตอนนั้น หยิบยกโครงการบางส่วนที่ BKIND เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนมาเล่าสู่กันฟัง โดยแบ่งตามความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อม เด็กและเยาวชน การศึกษาเรียนรู้ สุขภาพ ผู้สูงอายุ เด็กพิเศษ คนพิการ

ในตอนที่ 4 นี้ เราขอนำเสนอข้อมูลโครงการที่ BKIND เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนด้านเมืองและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การเกษตร ดังนี้

เมืองและสิ่งแวดล้อม

  • เกิดกลไกใหม่ในการจัดการดูแลตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ในเมืองให้ถูกต้อง สวยงาม ปลอดภัย โดยความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา กับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตัดแต่งต้นไม้ เช่น กทม. การไฟฟ้านครหลวง และเทศบาลต่างๆ เพื่อตัดแต่งต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี มีความสวยงาม ปลอดภัย และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการใช้งานพื้นที่ ใน 3 พื้นที่ใน กทม. เชียงใหม่ และนครราชสีมา (โครงการสายไฟใจดี)
  • เกิดกลไกการตรวจสอบและรายงานข้อมูลป้ายผิดกฎหมายและสิ่งกีดขวางบนถนน เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีผู้พิการเป็นผู้ทำการสำรวจ ข้อมูลที่สำรวจได้จะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการแก้ไข (โครงการสังคมอยู่ดีกับพลังตาพลเมือง)
  • เกิดการออกแบบและติดตั้งป้ายรถประจำทางใน กทม. ที่ใช้กระบวนการความมีส่วนร่วมและการออกแบบที่ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนที่ใช้รถประจำทางสามารถใช้รถประจำทางได้ง่ายยิ่งขึ้น ดำเนินการออกแบบและติดตั้งไปแล้ว 18 ป้าย ในกทม. (โครงการขนส่งมวลชนที่ทุกคนออกแบบได้)

วัฒนธรรม

  • สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการประชาสัมพันธ์ การตลาด สำหรับโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้วัฒนธรรมล้านนาให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยว (โครงการพัฒนาแผนการจัดการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา)

การเกษตร

  • เกษตรกรที่ยากจนในภาคอีสาน 29 คน สามารถเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเลี้ยงชีพด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ (โครงการกองทุนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์แก้จน)
  • คนเมือง 50 คน กลับไปทำเกษตรในบ้านเกิดของตนเอง ด้วยการอบรม สนับสนุนเงินทุนและคำปรึกษาในการทำเกษตร (โครงการคนกล้าคืนถิ่น)
  • เกิดกลไกการสนับสนุนการผลิตธัญพืชและไข่อินทรีย์เพื่อเติมช่องว่างการปลูกข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรใน จ.บุรีรัมย์ พร้อมกับการประกันราคาและการรับซื้อ ส่งผลให้เกษตรกร 25 ครัวเรือนมีความสามารถในการผลิตอาหารอินทรีย์ที่หลากหลาย เพิ่มรายได้ สร้างความมั่นคงและความมั่นใจ ในเส้นทางการเป็นเกษตรกรอินทรีย์ (โครงการกองทุนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์แก้จน)

สำหรับโครงการด้านอื่นๆ จะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับอะไรบ้างนั้น โปรดติดตามได้ในครั้งถัดไป