อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษแนะนำให้นักลงทุนรุ่นใหม่ลงทุนกับความยั่งยืน (Sustainability)

อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษแนะนำให้นักลงทุนรุ่นใหม่ลงทุนกับความยั่งยืน (Sustainability)

โดย…ทนง ขันทอง

ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา นายมาร์ค คาร์เนย์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ได้ไปร่วมงานสัมมนา Personal Investment Management & Financial Advice Association’s “Virtual Fest” และได้ให้คำแนะนำกับนักลงทุนรุ่นใหม่กลุ่มมิลเลนเนียลว่า ให้เน้นการลงทุนกับบริษัทหรือโครงการที่สนับสนุนความยั่งยืนท่ามกลางการระบาดของโคโรนาไวรัส

เขาให้เหตุผลว่า นักลงทุนรุ่นใหม่จะเผชิญกับการปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน และจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้ ในเมื่อความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ นักลงทุนรุ่นใหม่ควรที่จะวางท่าทีหรือแนวทางการลงทุนที่สอดคล้องกับทิศทางนี้ ยิ่งเกิดโรคไวรัสระบาด ยิ่งจะทำให้คนทั่วไปหันมาให้ความสนใจกับความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

นายคาร์เนย์ สิ้นสุดวาระการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษในเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา หลังจากอยู่ในตำแหน่งนี้มาเป็นเวลา 7 ปี ในปัจจุบันนี้ เขารับหน้าที่เป็นทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติในด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)

นายคาร์เนย์ ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นอย่างมาก ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ เขาออกไปพูดในเวทีสาธารณะ และเวทีประชุมการเงินระหว่างประเทศบ่อยครั้งถึงบทบาทของธนาคารกลาง และหน่วยงานอื่นๆ ในการช่วยตรวจสอบและควบคุมความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

โลกของเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 15 องศาเซลเซียส แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมา รวมทั้งการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของคาร์บอนทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายใหญ่ของเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่ทางองค์การสหประชาชาติให้การสนับสนุนผ่านวาระ 2030 ของการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Agenda 2030 คือจะจำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้สูงเกินไปกว่า 1.5 องศา เซลเซียส มิเช่นนั้นสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมทั้งมนุษย์จะมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต

มีการวางเป้าเพิ่มที่จะลดการปล่อยคาร์บอนของเสียเข้าสู่บรรยากาศของโลก 45% ภายในปี 2030 ก่อนที่จะบรรลุเป้าหมายสุดท้ายคือการปล่อยคาร์บอนสุทธิ 0% ในปี 2050 โดยที่จะต้องใช้คาร์บอนระดับต่ำหรือพลังงานทางเลือกอื่นๆที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า แสงแดด ลม

นายคาร์เนย์ กลายเป็นตัวแทนของภาคการเงินที่พูดถึงเรื่องความยั่งยืนมากที่สุด โดยวาดภาพให้เห็นว่า การที่โลกจะเดินหน้าไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิ 0% ได้ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับทุกฝ่าย เพื่อที่จะบริหารความเสี่ยงอยู่ภายใต้กรอบนโยบายของภาครัฐ บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอน หรือมลภาวะที่ตัวเองก่อ และการเปิดเผยข้อมูลจะเป็นภาคบังคับที่เลี่ยงไม่ได้

นายคาร์เนย์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในการให้เงินทุน หรือให้เงินกู้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทประกัน บริษัทจัดการกองทุนรวมจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้น ตามกระแสแรงกดดันที่จะให้บริษัทต่างๆ ต้องมุ่งทำธุรกิจให้สอดคล้องกับความยั่งยืน

นายคาร์เนย์ กล่าวต่อไปว่า นโยบายที่เปลี่ยนไปในเรื่องภูมิอากาศ เทคโนโลยีใหม่ๆ และความเสี่ยงด้านกายภาพจะทำให้มีการประเมินทรัพย์สินทางการเงินใหม่หมด ธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนจะมีโอกาสเจริญเติบโต และให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ในขณะที่ธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนจะอยู่ไม่ได้ และจะกลายเป็นความเสี่ยงของผู้ลงทุน หรือผู้ให้กู้ยืมเงิน

ความยั่งยืนกลายเป็นพลังปั่นป่วน (disruption) ของทั้งภาคการเงินและธุรกิจในอนาคต ผู้ใดยิ่งปรับตัวช้ายิ่งจะเสียประโยชน์หรืออาจจะไม่มีที่ยืนในประชาคมโลก จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่นายคาร์เนย์ให้คำแนะนำแก่นักลงทุนรุ่นใหม่ให้โฟกัสการลงทุนไปที่บริษัท หรือธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพราะว่าบริษัทที่มีธรรมาภิบาลดีในด้านนี้จะไม่เจอความเสี่ยงของการถูกกีดกันจากเงินลงทุน หรือเงินให้กู้ ถูกปรับ ถูกแซงชั่นเหมือนกับบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะอยู่อยากยิ่งขึ้น