IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลง -4.9%

IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลง -4.9%

BF Economic Research

IMF ได้ เผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. โดยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2020 และปี 2021 โดยให้เหตุผลสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม และมองว่าการฟื้นตัวจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง -4.9% ในปี 2020 นี้ จากคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะหดตัวลง -3.0% นอกจากนี้ IMF ยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 สู่ระดับ 5.4% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะขยายตัว 5.8%

โดย IMF คาดเศรษฐกิจกลุ่มพัฒนาแล้ว (Advance Economies) จะหดตัว -8.0% (ปรับลดลง -1.9ppt จากประมาณการครั้งก่อน) และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Economies) คาดจะหดตัว -3.0% (ปรับลดลง -2.0ppt จากประมาณการครั้งก่อน)

ในรายประเทศ IMF ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงทั้งหมด ดังนี้

  • เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง -8.0% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง -5.9%
  • ญี่ปุ่นจะหดตัว -5.8% จากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะหดตัว-5.2%
  • เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัว -10.2% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง -7.5% โดยหดตัวรุนแรงในทุกประเทศหลัก ทั้งเยอรมนี (-7.8%) ฝรั่งเศส (-12.5%) อิตาลี (-12.8%) และสเปน (-12.8%)
  • จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ IMF คาดว่า จะมีการขยายตัวในปีนี้ โดยจะอยู่ที่ระดับ 1.0% แต่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะขยายตัว 1.2%
  • อินเดีย คาดจะหดตัว -4.5% (vs. ขยายตัว 1.9% ประมาณการครั้งก่อน) ซึ่งนับเป็นประเทศที่ถูกปรับลดมากที่สุดในรอบนี้ จากการใช้มาตรการ Lockdown เป็นระยะเวลานาน
  • สำหรับประเทศไทยนั้น IMF ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของไทย โดยคาดว่าจะหดตัวลง -7.7% ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

Key Point

  • IMF ระบุประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) จะยังคงอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปีและจะกดดันอุปสงค์ การใช้มาตรการ Lockdown ก่อนหน้านี้จะยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตหรือด้านอุปทาน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังไม่น่าที่จะเปิดดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จากการควบคุมสุขลักษณะความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ขณะที่ประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ การใช้มาตรการ Lockdown เป็นระยะเวลานานขึ้น จะยิ่งกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่บนสมมติฐานว่ามาตรการ Lockdown จะไม่ถูกนำกลับมาใช้เหมือนในช่วงครึ่งแรกของปี โดยคาดจะพึ่งพามาตรการอื่นๆ เช่น การเพิ่มการตรวจหาไวรัส การติดตามตรวจสอบการเดินทางของประชาชน และการกักตัว  หมายความว่าการประมาณการในครั้งนี้อ้างอิงพัฒนาการของ COVID-19 เป็นหลักแปลว่า เศรษฐกิจจะมี Upside (หากสามารถควบคุมโรคได้เร็ว) และจะมี Downside (หากยังไม่สามารถควบคุมโรคได้)
  • แต่ไม่ว่า COVID-19 จะเป็นเช่นไร IMF ได้ระบุว่าการใช้มาตรการกระตุ้นทั้งด้านการเงินและการคลังอย่างเต็มที่ในหลายประเทศได้ช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงไปกว่านี้ โดยเฉพาะมาตรการที่พยุงการจ้างงาน และการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ ซึ่ง IMF คาดมาตรการดังกล่าวจะมีต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขณะที่นโยบายการเงินคาดจะผ่อนคลายตลอดจนถึงสิ้่นปี 2021 และการผ่อนคลายทางการเงินอย่างสุดโต่งนี้ทำให้ดูเหมือนกับว่าจะส่งผลบวกให้กับ Financial Markets  ทั้งที่ภาพเศรษฐกิจดูไม่ดีเลย
  • โดย IMF ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้ (ปี 2020-2021 รวมกัน) อาจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง USD12,500bn (เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาด USD9,000bn) เกือบเท่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศจีน
  • ทั้งนี้ IMF กล่าวเตือนถึงสถานะทางการคลังของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศที่จะทรุดตัวลงอย่างหนักจากการออกมาตรการลดทอนผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และหนี้สาธารณะต่อ GDP ของโลกที่คาดจะพุ่งขึ้นแรงทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 101.5% ในปี 2020F (vs. 82.8% ปี 2019)