MPC และทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

MPC และทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

BF Economic Research

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ ปท.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.5% พร้อมแสดงความกังวลว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในการประชุมครั้งนี้ ธปท. ได้ออกประมาณการเศรษฐกิจไทยมาด้วยซึ่งได้ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวแรงและต่ำกว่าอัตราขยายตัวในเชิงศักยภาพของไทย ที่ 4.0% พร้อมกับยังประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% ของ ธปท.ด้วย

สำหรับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้านั้น ตลาดเริ่มมองถึงโอกาสที่ ธปท. จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกจากระดับปัจจุบันที่ 0.5% เนื่องด้วย ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคของ ธปท. ได้เคยออกมาให้ความเห็นว่า ธปท. กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% ลงอีก (แต่เดิมอัตรานำส่งนี้อยู่ที่ 0.46% และ ธปท.ได้ปรับลดลงสู่ 0.23% ในเดือนเม.ย.) ซึ่งหาก ธปท. มีแผนที่จะปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯจริง อาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่า Floor ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขยับลงต่ำกว่าระดับปัจจุบัน

ทั้งนี้ Market Consensus มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 0.4% หมายความว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองว่า ธปท.ยังมองว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% แต่ก็มีบางส่วนที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธปท.มองเศรษฐกิจหดตัวในอัตราที่มากกว่าสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง (ณ ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยหดตัวที่ -7.6% )

และนอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าแล้ว ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินได้แสดงความกังวลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่า ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รองผู้ว่าการฯ เมธี สุภาพงษ์ ได้ให้ความเห็นว่าการเก็งกำไรของทองคำและการที่เงินไหลเข้ามาพักในระยะสั้นๆในไทยมีส่วนให้เงินบาทแข็งค่า จึงมีความเป็นไปได้ว่า ธปท.จะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะอันใกล้นี้