แบล็คร็อคผงาดเป็นสถาบันการเงินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

แบล็คร็อคผงาดเป็นสถาบันการเงินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

โดย…ทนง ขันทอง

เมื่อพูดถึงสถาบันการเงินที่มีอิทธิพลต่อระบบการเงินโลกมากที่สุด คนส่วนมากอาจจะคิดถึงแบงก์ ไม่ว่าจะเป็นเจพี มอร์แกน เชส, โกลด์แมน แซคส์ หรือเอชเอสบีซี แต่นั่นเป็นอดีต

ในปัจจุบันนี้ สถาบันการเงินที่เป็นที่ยอมรับว่า มีอิทธิพลต่อระบบการเงินโลกมากที่สุดไม่ใช่แบงก์ แต่เป็นบริษัทจัดการกองทุนรวมแบล็คร็อค ที่มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารมากกว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่นับทรัพย์สินอีก 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่แบล็คร็อคช่วยดูแลความเสี่ยงให้ลูกค้าผ่านซอฟต์แวร์อลาดินของตัวเอง

อาจารย์ Wiliiam Birdthistle จาก Chicago-Kent College of Law ถึงกับบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดถึงแบล็คร็อค โดยไม่คิดถึงพวกเขาว่าเป็นแขนงที่ 4 ของรัฐบาล (นอกเหนือไปจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ)

แบล็คร็อค กลายเป็นจุดสนใจของทุกคนเมื่อธนาคารกลางของสหรัฐฯ เรียกใช้บริการของบริษัทนี้ในการแก้ไขวิกฤติการทางการเงินท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยไม่มีการแข่งขันจากบริษัทอื่น

ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แบล็คร็อคได้รับมอบหมายให้ช่วยบริหารมาตรการกอบกู้เศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่รู้จักกันในชื่อ Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act (CARES Act) โดยที่เงินจำนวนหนึ่ง หรือประมาณ 454,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมาตรการนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลังและเฟด เมื่อเฟดใช้หลักการบริหารเครดิตจะสามารถเพิ่มปริมาณเงินกู้ได้ถึง 10 เท่า หรือ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ของเงินจำนวนนี้ เพื่อใช้ในการกอบกู้ภาคการเงิน และเศรษฐกิจ

แบล็คร็อคได้รับมอบหมายจากเฟดที่ได้อัดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินอย่างเต็มที่ให้ทำหน้าที่ 3 ด้านด้วยกันคือ 1.บริหารพอร์ตพันธบัตรเอกชน และตราสารหนี้ในกองทุนอีทีเอฟ (exchange traded funds) 2. บอนด์ออกใหม่ที่ต้องการสภาพคล่องจากผู้ซื้อ และ 3. ช่วยซื้อตราสารหนี้ที่มีทรัพย์สินอสังหาฯ หนุนหลังจากสถาบันการเงินที่สนับสนุนตลาดอสังหาฯ ของรัฐบาล Fannie และ Freddie.

แบล็คร็อคมีประสบการณ์สูงในการบริหารพอร์ตขนาดยักษ์ โดยเป็นผู้ออกอีทีเอฟที่ใหญ่ที่สุด อีทีเอฟเป็นกองทุนเปิดที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเพื่อให้ซื้อขายได้สะดวก เหมือนหุ้น ซึ่งมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง (Passive Fund) โดยสามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ หลากหลายประเภท นอกจากนี้ แบล็คร็อคยังบริหารกองทุนบอนด์ที่มีขนาด 625,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับกองทุนบำนาญ และลูกค้าสถาบันการเงินอื่นๆ

ลาร์รี่ ฟิ๊ง ผู้ก่อตั้งแบล็คร็อค ร่วมกับกลุ่ม Blackstone Group ในปี 1988 มีความสนิทชิดเชื้อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่วางนโยบายการเงินและเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้คนในแวดวงทางการเมืองเป็นพิเศษ

ในทศวรรษที่ 1990s และ2000s งบดุลของแบล็คร็อคมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญจากธุรกิจตราสารหนี้ที่มีทรัพย์สินอสังหาฯ หนุนหลัง (mortgage backed securitiesหรือMBS) ในช่วงวิกฤติปี 2008 แบล็คร็อคได้เข้าไปช่วยเฟดในการซื้อ MBS จาก Bear Stears และAmerican Insurance Group เนื่องจากตามกฎหมายเฟดไม่สามารถเข้าไปซื้อ MBS ได้โดยตรง แต่จริงๆ แล้วแบล็คร็อคเติบโตจากธุรกิจอีทีเอฟ โดยได้ทรัพย์สินประเภทนี้มาบริหารเป็นเม็ดเงินนับเป็นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ได้ซื้อ iShares ซีรีส์ของไอทีเอฟจากการซื้อกิจการของ Barclays Global Investors ในปี 2009

ในปี 2020 iShares ซีรีส์ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยมี 800 กองทุนและทรัพย์สินภายใต้การบริหารจำนวน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีทีเอฟซื้อและขายเหมือนหุ้น แต่ทำหน้าที่เหมือนกองทุนที่ติดตามดัชนี โดยตามดัชนีแบบแพสซีฟ เช่น S&P 500 ที่ถือว่าเป็นดัชนีบรรทัดฐานของบริษัทอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดที่นักลงทุนส่วนมากลงทุน

ทุกวันนี้ธุรกิจอีทีเอฟมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีสัดส่วนเกือบจะครึ่งหนึ่งของการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ และมีการกระจุกตัวอย่างสูงในผู้เล่น 3 ราย คือ แบล็คร็อค แวนการ์ด และสเตทสตรีท โดยแบล็คร็อคเป็นผู้นำบิ๊กทรีนี้

ในปี 2017 บิ๊กทรีเป็นผู้ถือหุ้นเกือบ 90% ในบริษัทที่จัดทะเบียนในตลาด S&P 500 รวมท้ัง Apple, Microsoft, ExxonMobil, General Electric และ Coca-Cola. นอกจากนี้ แบล็คร็อคยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแบงก์ยักษ์ทั้งหลาย ร่วมท้ังกลุ่มธุรกิจสื่อ

เมื่อแบล็คร็อคมีการบริหารกองทุนขนาดใหญ่ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทในตลาดหุ้น ทำให้มีหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า แบล็คร็อคมีอิทธิพลเหนือตลาด และมีความใกล้ชิดกับทางการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟดมากเกินไปหรือไม่ ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเงินโลกในปัจจุบันนี้เปลี่ยนจากยุคของแบงก์มาเป็นยุคของบริษัทบริหารกองทุนรวมแบล็คร็อค