จูดี้ เชลตัน เตรียมเขย่าเฟด

จูดี้ เชลตัน เตรียมเขย่าเฟด

โดย…ทนง ขันทอง

จูดี้ เชลตัน นักวิชาการที่หนุนระบบมาตรฐานทองคำ ได้รับการโหวตจากคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาในวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้ผ่านการตรวจสอบรอบแรก ก่อนที่เชลตันจะถูกเสนอชื่อให้วุฒิสภาโหวตทั้งองค์ประชุมว่า จะสนับสนุนให้เธอเป็นสมาชิกของคณะกรรมการของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือไม่

ที่มา – https://twitter.com/judyshel

ตลาดการเงินให้ความสนใจกับเชลตันเป็นพิเศษ เพราะว่าเธอเคยโจมตีเฟดในช่วงที่ผ่านมาเป็นหน่วยงานที่ขี้โกง (rogue agency) และจะเป็นการสมควรหรือไม่ที่คนอเมริกันจะให้ความไว้วางใจในการบริหารและดูแลเงินดอลลาร์ เธอเรียกร้องให้เฟดตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0% ไม่ใช่ 2% เหมือนอย่างที่ตั้งขึ้นมาอย่างดุ่ยๆ เพื่อเป็นข้ออ้างให้เฟดเพิ่มปริมาณเงินหรือสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินอย่างมากมาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินภายหลัง รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนทีหลัง

เชลตัน ไม่เห็นด้วยการความเป็นอิสระของเฟด เพราะเชื่อว่าเฟดและทำเนียบขาว หรือรัฐบาลต้องทำงานร่วมกันในการดูแลความมั่นคงของระบบการเงินและเศรษฐกิจ เธอบอกว่า ไม่เห็นมีข้อความใดๆ ในกฎหมาย Federal Reserve Act of 1913 ที่ระบุว่า เฟดมีอิสรภาพในการดำเนินงาน นอกจากนี้เธอตั้งข้อสงสัยกับพันธกิจของเฟดที่จะบริหารนโยบายการเงินให้เงินเฟ้อมีเสถียรภาพ และในขณะเดียวกันให้มีอัตราการจ้างงานอย่างเต็มที่ เพราะว่าทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นเรื่องขัดแย้งกัน

ที่สำคัญ เชลตัน เป็นผู้ที่มีความเห็นสนับสนุนระบบมาตรฐานทองคำ (gold standard) เพื่อให้รัฐบาลมีวินัยทางการเงินและการคลัง ซึ่งจะมีผลในการดูแลเรื่องเงินเฟ้อและรักษาเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ โดยเธอได้เรียกร้องให้มีการผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำ เพื่อปกป้องเสถียรภาพของค่าเงิน รวมทั้งแนะนำว่าประเทศต่างๆ ในโลกควรจะมีการจัดประชุมในรูปแบบ Bretton Woods อีกครั้ง เพื่อที่จะกลับมาใช้ระบบมาตรฐานทองคำเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของโลก

ประวัติศาสตร์การเงินของสหรัฐฯ และของโลกใช้ระบบมาตรฐานทองคำมาเกือบตลอด แม้ว่าตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปจะมองว่ามันเป็นนโยบายที่ล้าสมัย ในระบบมาตรฐานทองคำ รัฐบาลจะพิมพ์เงินออกมาใช้ตามสัดส่วนทองคำสำรองที่ถืออยู่ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจในเสถียรภาพของค่าเงิน การใช้จ่ายของรัฐบาลจะถูกจำกัดตามภาษีที่เก็บได้ หรือในกรณีที่กู้เงินมาใช้ในงบประมาณที่ขาดดุลโดยมีทองคำสำรองเป็นหลักประกัน ทำให้เวลารัฐบาลกู้เงินต้องยั้งคิด หรือมีเพดานจำกัด

ถ้าหากว่ารัฐบาลมีการใช้จ่ายเงินเกินตัว ผู้ถือเงินสกุลของประเทศนั้นจะไม่มีความมั่นใจ และอาจจะถอนเงินออกนอกระบบแล้วเอาไปแลกทองคำ ข้อดีของระบบมาตรฐานทองคำคือทำให้เงินเฟ้อต่ำ เนื่องจากเงินเฟ้อเกิดจากการการใช้จ่ายที่เกินตัว การขยายตัวของปริมาณเงิน และการเพิ่มเครดิตในระบบธนาคารเป็นส่วนใหญ่

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ และอังกฤษเป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างระบบการเงินโลกใหม่เพื่อให้ดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก เนื่องจากทั้งคู่เป็นประเทศที่ชนะสงคราม มีการประชุมที่ Bretton Woods รัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐฯ ระดับนานาชาติในปี 1944 เพื่อตกลงให้ดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ โดยค่าเงินดอลลาร์จะผูกกับทองคำที่ระดับ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในขณะนั้นสหรัฐฯ มีทองคำสำรองอยู่ 20,000 ตัน ประเทศต่างๆ สามารถถือดอลลาร์เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก เนื่องจากดอลลาร์ผูกกับทองคำเท่ากับว่าดอลลาร์มีค่าเหมือนทองคำ ทำให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของโลกมีความมั่นคง เพราะว่าค่าเงินไม่ผันผวนเนื่องจากใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่

แต่ในปี 1971 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้ยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำ เนื่องจากสหรัฐฯ มีการใช้จ่ายเกินตัว เกินกว่าทองคำสำรองที่มีอยู่ หรือที่ค่อยร่อยหรอลงไป ทำให้โลกเข้าสู่ยุคมาตรฐานดอลลาร์ที่เป็นระบบเงินกระดาษ (fiat currency) ที่ไม่มีหลักทรัพย์หนุนหลัง ตั้งแต่นั้นมาสหรัฐฯ สามารถพิมพ์ดอลลาร์ หรือเพิ่มปริมาณเงินแบบไม่จำกัด โดยไม่ต้องมีวินัยการเงินการคลัง อัตราแลกเปลี่ยนในโลกมีความผันผวนหนักเนื่องเนื่องปรับเปลี่ยนเป็นระบบลอยตัว แต่เนื่องจากดอลลาร์ยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลก ทำให้มีดีมานด์สำหรับดอลลาร์ในต่างประเทศ ซึ่งช่วยรับแรงกดดันของเงินเฟ้อภายในประเทศ

ในแง่ของ เชลตัน หลังจากที่ใช้ดอลลาร์กระดาษมาร่วม 50 ปี ได้เวลาแล้วหรือยังที่จะปรับเปลี่ยน เพราะว่าวิกฤติการณ์การเงินหลังจากนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2008 และปี 2020นี้ เฟดมีการพิมพ์เงินอย่างมหาศาลเพื่ออุ้มระบบการเงินและเศรษฐกิจที่เกิดจากฟองสบู่การเงินที่มีต้นเหตุจากการก่อหนี้ การเพิ่มปริมาณเงิน รวมทั้งการเพิ่มเครดิตในระบบมากเกินไป โดยไม่มีเพดานจำกัด

ทรัมป์เป็นผู้เสนอชื่อให้เชลตันเป็นสมาชิกของบอร์ดของเฟด ที่จำเป็นต้องได้รับการโหวตจากวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีการกำหนดวันโหวตว่าจะเป็นเมื่อใด ทรัมป์และเชลตันมีความคิดในเรื่องมาตรฐานทองคำคล้ายกัน ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์ก่อนชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีว่า เขาเห็นด้วยว่าสหรัฐฯ ควรกลับไปใช้ระบบมาตรฐานทองคำ เพื่อที่จะรักษาวินัยการคลัง แต่เขาเกรงว่าสหรัฐฯ อาจจะไม่มีทองคำสำรองเหลืออยู่ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีทองคำมาก สหรัฐฯ ประกาศว่ามีทองคำสองรองอยู่ 8,133 ตัน แต่ว่าไม่เคยมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานอิสระอย่างจริงๆ จังๆ ว่าทองคำสำรองที่ส่วนมากเก็บที่ Fort Knox นั้นยังมีอยู่จริงหรือไม่

ถ้าหากว่ามีการใช้ระบบมาตรฐานทองคำ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีธนาคารกลาง เพราะว่ากระทรวงการคลังสามารถพิมพ์ดอลลาร์ออกมาได้ตามสัดส่วนมูลค่าทองคำที่ถืออยู่

ในปัจจุบัน เชลตันมีอายุ 66 ปีแล้ว เธอเรียนหนังสือที่ Portland State Universityและได้ปริญญา MBA และปริญญเอกทางบริหารธุรกิจจาก University of Utah เธอเคยทำงานที่ Hoover Institution และอยู่ในทีมหาเสียงให้ Bob Dole เธอได้ร่วมงานกับ TheGoldStandardNow.Org และตอนนี้อยู่ในทีมงานของทรัมป์

จับตาดูว่า เชลตันจะได้รับการโหวตจากวุฒิสภาให้เข้าไปร่วมงานกับเฟดหรือไม่ และเมื่อเข้าไปแล้ว เธอจะสามารถผลักดันนโยบายมาตรฐานทองคำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟดในยุคหลังไม่เห็นด้วยมาตลอดได้หรือไม่