ดอลลาร์เสีย ทองคำได้

ดอลลาร์เสีย ทองคำได้

โดย…ทนง ขันทอง

มีคำกล่าวว่า Dollar’s pain is gold’s gain หมายว่าความเจ็บปวดของดอลลาร์สหรัฐเป็นการได้ของทองคำ

ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะว่าทองคำเป็นปฏิปักษ์ต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ทองคำจะร่วง ในทางกลับกัน เมื่อทองคำแข็งค่า ดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนตัวลง

แต่ถ้ามองลึกลงไป ทองคำเป็นเงิน (money) และเป็นมาตรฐาน (benchmark) ในการวัดค่าของเงินสกุลต่างๆ ที่แท้จริง ทองคำไม่ได้มีการเคลื่อนไหวของราคาแต่ประการใด แต่ดอลลาร์สหรัฐ หรือเงินกระดาษสกุลอื่นๆ ต่างหากที่มีการเคลื่อนไหวของราคาเมื่อเทียบกับทอง

ขณะนี้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ การอ่อนค่านี้มีผลทำให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยทองทำลายสถิติสูงสุด 1,921 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ที่ทำเอาไว้ในปี 2011 ทำให้ทองคำกลายเป็นทรัพย์สินที่นักลงทุนพูดกันมากที่สุดในเวลานี้

ในวันนี้ (29 กรฏาคม) ราคาทองคำปรับตัวลงเล็กน้อยไปอยู่ที่ 1,952 ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะตลาดทองคำจะมีภาวะที่ร้อนแรง แต่ Peter Grosskopf ซีอีโอของ Sprott Inc ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทองมีโอกาสพุ่งไปแตะระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการปรับฐาน

ในขณะนี้ ดอลลาร์มีค่าตกต่ำสุดตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2019 สำนักข่าวบลูมเบิร์กออกรายงานเรื่อง “Dollar Bears Set Currency on Course for Worst July in a Decade” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ว่าดอลลาร์สหรัฐกำลังถูกเทขายหนักจากเฮดจ์ฟันด์ที่ขายดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อเงินเยน ซื้อเงินยูโร ซื้อเงินแคนาเดียนดอลลาร์ ซื้อเงินสวิสฟรังค์ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 3.4% ในเดือนกรกฎาคม นี้ ตามดัชนี Bloomberg Dollar Spot Index

นักลงทุนทิ้งดอลลาร์ในช่วงนี้ทำให้ทองมีราคาสูงขึ้นมีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ความกังวลใจในการควบคุมการระบาดโคโรนาไวรัสของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ อาจจะต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ดอกเบี้ยแตะระดับ 0% แล้ว และที่สำคัญที่สุดหนี้ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้มีการขาดดุลการคลังสูงขึ้นอย่างมโหฬาร

ก่อนหน้านี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าสุดในรอบ 3 ปีครึ่งมาจนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ บูมจากนโยบายการเงินในภาพรวมที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการลดภาษีของทรัมป์ ในขณะที่ยิลด์ของพันธบัตรทั้งโลกที่ติดลบมีมากถึง 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นับจากหลังเดือนมีนาคมเป็นต้นมา เฟดต้องลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0% พร้อมกับทำคิวอีมหาศาล เพื่ออุ้มตลาดหุ้นและเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากปัญหาโควิด-19 และการล็อคดาวน์เศรษฐกิจ ตลาดหุ้นที่ร่วงลงมีการเด้งกลับอย่างรวดเร็ว

ซีเอ็นบีซี รายงานเรื่อง Dollar move signals new era of weakness for currency, as gold gains เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม) ว่าดอลลาร์เข้าสู่ยุคของการอ่อนตัว ในขณะที่ทองคำมีระดับราคาที่สูงขึ้น โดยตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมมา ดอลลาร์ได้อ่อนค่าลง 4.9% เมื่อเทียบกับเงินยูโร อ่อนค่าลง 2.5% เมื่อเทียบเงินเยน อ่อนค่าลง 6.4% เมื่อเทียบเงินสวิดิชโครน่า อ่อนค่าลง 4% เมื่อเทียบเงินนิวซีแลนด์ดอลลาร์

ในตลาดเกิดใหม่ในเดือนกรกฎาคม ค่าเงินบราซิเลียนรีลแข็งค่าขึ้น 6% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ และเม็กซิกันเปโซแข็งค่าขึ้น 4.9% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐเหมือนกัน ส่วนเงินหยวนของจีนปรับค่าสูงขึ้น 1% ส่วนดัชนียูเอสดอลลาร์อินเด็กซ์ ซึ่งวัดค่าเงินดอลลาร์กับประเทศคู่ค้า มีการปรับตัวลง 3.77% ในเดือนกรกฎาคม นับว่าเป็นเดือนที่อ่อนค่ามากที่สุดตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2011
นักลงทุนพากันเรียกว่าดอลลาร์หมี (dollar bear) ที่กำลังจะกลายเป็นกระสอบทรายเข้าทุกที เพราะว่านักลงทุนกลับมาดูปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐฯ อย่างจริงๆจังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องประสิทธิภาพที่ไม่ได้ดีจริงในการควบคุมการระบาดของไวรัส มาตรการการปั๊มเงินไม่อั้นของเฟด และการก่อหนี้ของรัฐบาลสหรัฐที่สร้างหนี้เพิ่มมากมาย ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบวีเชป (V shape) ที่บอกว่าจะเร็ว ต้องถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการลำเลียงวัคซีนโควิดออกมาสู่ท้องตลาด

จากสถานการณ์นี้ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อว่า ทองคำยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้อีก โดยทางโกลแมน แซคส์ในวันนี้ได้ออกรายงานทำนายว่าทองคำจะมีราคาสูงขึ้นอีก 20% จากระดับปัจจุบัน และจะไปแตะระดับ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปีหน้า