การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) สหรัฐฯ เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 1.76 ล้านราย

การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) สหรัฐฯ เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 1.76 ล้านราย

BF Economic Research

การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 1.76 ล้านราย ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.48 ล้านราย ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น 4.79 ล้านรายในเดือนก่อน สะท้อนการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของตลาดแรงงาน

  • การจ้างงานเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะภาคบริการ (1.72 ล้านราย vs. 4.28 ล้านรายเดือนก่อน) ยังคงนำโดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ได้แก่ การโรงแรมและพักผ่อน (5.92 แสนราย) ค้าปลีก (2.58 แสนราย) การให้บริการด้านสุขภาพและความช่วยเหลือทางสังคม (1.91 แสนราย) และการให้บริการทางธุรกิจ (1.70 แสนราย)
  • ส่วนภาคการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (3.9 หมื่นราย vs. 5.15 แสนรายเดือนก่อน) ทั้งในภาคอุตสาหกรรม (2.6 หมื่นราย) และภาคก่อสร้าง (2.0 หมื่นราย)
  • ด้านการจ้างงานภาครัฐเพิ่มขึ้น 3.01 แสนราย (vs. 5.4 หมื่นรายเดือนก่อน) จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคการศึกษา ซึ่งเป็นฤดูกาล เนื่องจากสถานศึกษาใกล้จะถึงกำหนดเปิดเทอมแล้ว
  • การจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่าที่ตลาดคาดหนุนให้อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เดือน ก.ค. ปรับตัวลดลงเป็น 10.2% จาก 11.1% ในเดือนก่อน อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับจุดสูงสุดในวิกฤตครั้งก่อนที่ 10.0%
  • อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (Participation Rate) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเป็น 61.4% จาก 61.5% ในเดือนก่อน
  • อัตราค่าจ้างเฉลี่ย (Average Hourly Earnings) เดือน ก.ค. ชะลอตัวลงเล็กน้อยเป็น 4.8% YoY จาก 4.9% ในเดือนก่อน
  • การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานได้ชะลอตัวลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.-มิ.ย. อีกทั้งระดับการจ้างงานยังต่ำกว่าเดือน ก.พ. ก่อนการระบาดของ COVID-19 อยู่ถึง 13 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ รายงานอัตราการว่างงานระบุว่าแรงงานส่วนใหญ่ (48%) ว่างงานมากว่า 15 สัปดาห์ หรือนับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ที่ COVID-19 เริ่มส่งผลกระทบ สะท้อนถึงภาพรวมของตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบาง

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนาม Executive Orders 4 ฉบับ เกี่ยวเนื่องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนี้

  • ให้สวัสดิการว่างงานเพิ่มเติมที่อัตรา USD400/สัปดาห์ (ลดลงจากเดิม USD600/สัปดาห์ที่หมดอายุสิ้นเดือน ก.ค. 2020) สวัสดิการว่างงานดังกล่าวจะมาจากรัฐบาลกลาง (Federal Government) 75% (ราว USD300/สัปดาห์) ผ่านการใช้วงเงิน USD 44bn จากโครงการ Disaster Relief Fund และอีก 25% (ราว USD100/สัปดาห์) ที่เหลือจะมาจากรัฐบาลท้องถิ่น (State Government) ผ่านการใช้วงเงินเดิมที่เหลือจากโครงการ Coronavirus Relief Fund ที่ได้ออกไปในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบเดือน มี.ค. (วงเงินรวม USD 150bn)
  • เลื่อนการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของ “ลูกจ้าง” นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.- 31 ธ.ค. 2020 ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนการจ่ายภาษีเงินเดือนในส่วนของนายจ้างจนถึงเดือน ธ.ค. 2020 ไปแล้วในเดือน มี.ค.
  • เลื่อนการจ่ายคืนเงินกู้เพื่อการศึกษาและคิดดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวที่ 0% จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2020 (เดิมกำหนดสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.)
  • ให้ความช่วยเหลือผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่ค้ำประกันโดยหน่วยงานภาครัฐ (Federal Housing Finance Agency (FHFA))โดยปกป้องสิทธิจากการถูกยึดหรือถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้บ้านได้ (โดยในเดือน มี.ค. รัฐบาลได้ประกาศให้ความคุ้มครองจนถึงวันที่ 24 ก.ค.) โดยที่ปธน ได้สั่งการให้Housing and Urban Development (HUD) Secretary ออกมาตรการที่สนับสนุนคำสั่งปธน นี้

โดยสรุป การตัดสินใจใช้ Executive Orders ของปธน. Trump เกิดขึ้นภายหลังจากที่สภาไม่สามารถตกลงกันได้ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่แม้จะเจรจากันมาหลายสัปดาห์แล้ว ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งในส่วนของ วงเงิน (USD1.0trn ของวุฒิสภา vs. USD3.5trn ของสภาผู้แทนฯ) และรายละเอียดมาตรการต่างๆ ขณะที่การให้สวัสดิการว่างงานเพิ่มเติม (USD600/สัปดาห์) ได้หมดอายุลงเมื่อปลายเดือน ก.ค. และนับเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ตลาดตอบรับกับมาตรการนี้เพียงเล็กน้อยเนื่องด้วยมองว่าคำสั่ง ปธน อาจจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในวงที่จำกัด Goldman Sachs มองว่าการให้สวัสดิการว่างงานเพิ่มเติมนั้นอาจจะเต็มวงเงินที่ ปธน กำหนดไว้ภายใน 1 เดือน และภายหลังจากการประกาศใช้ Executive Orders นาย Steven Mnuchin รมว.คลังสหรัฐฯ และนาง Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนฯ ได้ออกมาแสดงความเห็นร่วมกันเมื่อวานนี้ ที่จะรีบกลับมาหารือเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันต่ออีกครั้ง แต่ยังไม่ได้ระบุเวลาชัดเจน ตลาดมองว่าท้ายที่สุดแล้ว สภาคองเกรสจะต้องเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 4 ออกมาในที่สุด โดยเบื้องต้นตลาดมองว่ามาตรการระยะที่ 4 นี้จะมีขนาด 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ