การเมืองเรื่องวัคซีนโคโรนาไวรัส (ตอน 2)

การเมืองเรื่องวัคซีนโคโรนาไวรัส (ตอน 2)

โดย…ทนง ขันทอง

ในวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศว่า รัสเซียได้ทำการจดทะเบียนรับรองวัคซีนโคโรนาไวรัสที่ผลิตภายในประเทศรัสเซียแล้ว โดยวัคซีนตัวนี้มีชื่อว่า Sputnik V ซึ่งเป็นผลงานของสถาบันGamaleya National Research Instituteที่อยู่ในกรุงมอสโคว

ปูติน ให้ความมั่นใจกับความปลอดภัยของวัคซีนของรัสเซีย โดยบอกว่า ลูกสาวของตัวเองได้รับการทดลองฉีดไปแล้ว

วัคซีนSputnik V ผ่านการทดลองระยะ 1 ระยะ2 แล้ว ปรากฎว่า ผู้เข้าร่วมทดลองมีการสร้างภูมิคุ้มกันไวรัส ทำให้ไม่จำเป็นต้องเร่งทดลองระยะ 3 ที่ต้องใช้คนเข้าร่วมโครงการทดลองเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ รัสเซียให้ข่าวว่า จะมีความต้องการวัคซีน Sputnik V ถึง 1,000 ล้านโดส มีมากกว่า 20 ประเทศ ที่แสดงความสนใจที่จะรับมอบ หรือร่วมผลิตวัคซีนของรัสเซีย

หลังจากที่รัสเซียออกข่าววัคซีนโคโรนาไวรัส สื่อจากโลกตะวันตก รวมทั้งนาย Anthony Fauci ผู้ที่ดูแลนโยบายโรคติดต่อของสหรัฐฯ ต่างตั้งข้อสงสัยเป็นเสียงเดียวกันว่า วัคซีนของรัสเซียจะมีความฉมัง มีความน่าเชื่อถือ หรือมีความปลอดภัยเพียงใดในการป้องกันไวรัส

อย่างไรก็ตาม รัสเซียต้องการพึ่งพาตัวเองในเรื่องวัคซีนต้านไวรัส เพราะว่าถูกโลกตะวันตกแอนตี้อยู่ในเวลานี้ ถ้าต้องคอยวัคซีนจากโลกตะวันตก อาจจะต้องรอคอยต่อคิวได้แถวหลังสุด

ในวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา The Wall Street Journal ได้เขียนรายงาน “China Seeks to Use Access to Covid-19 Vaccines for Diplomacy” ในทำนองที่ว่า จีนกำลังใช้วัคซีนโคโรนาไวรัสเป็นเครื่องมือในการดึงเอาประเทศต่างๆ ให้เป็นพันธมิตรเพื่อเสริมภาพพจน์ในเวทีโลก เนื่องจากจีนกำลังมีปัญหาในการเผชิญหน้ากับสหรัฐในสงครามเย็นรอบใหม่

The Wall Street Journal รายงานว่า กระทรวงต่างประเทศของจีนได้สัญญาว่า จะให้ฟิลิปปินส์เข้าถึงวัคซีนต้านโคโรนาไวรัสก่อนใครๆ เนื่องจากเป็นที่รู้กันทั่วว่าฟิลิปปินส์มีปัญหาข้อพิพาทในการอ้างกรรมสิทธ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลี่ในทะเลจีนใต้กับจีน และทางสหรัฐฯ ต้องการใช้ฟิลิปปินส์เป็นฐานทัพในการปิดล้อมจีนในภูมิภาคนี้ ในขณะเดียวกันบริษัท Sinovac Biotech Ltd ของจีน ได้ทำข้อตกลงที่จะทำงานร่วมกับประเทศบราซิล และอินโดนีเซีย ในการผลิตวัคซีนจำนวนหลายร้อยล้านโดส

จีนมีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโคโรนาไวรัสมาก เพราะว่าเป็นประเทศแรกที่ถูกโรคระบาด จึงมีการทุ่มกำลังเงิน กำลังคนเพื่อค้นคว้าและวิจัยวัคซีนอย่างเร่งด่วน จีนมีวัคซีน 3 ตัว จากทั้งหมด 6 ตัวในโลก ที่ถือว่าอยู่ในขั้นแนวหน้าของการทดลองในระยะสุดท้าย และมีศักยภาพที่จะสามารถป้องกันไวรัสได้ ทำให้จีนมั่นใจว่าจะสามารถฝ่าฟันการระบาดของโคโรนาไวรัสได้ วัคซีนระดับแนวหน้าอีก 3 ตัว กำลังอยู่ในการทดลองในสหรัฐฯ อังกฤษและเยอรมนี นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก รายงานว่า มีความพยายามที่จะพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสมากกว่า 24 ตัว ที่พอจะมีความคืบหน้าบ้างในการทดลองในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ที่ผ่านมาจีนสามารถดูแลจัดการกับการระบาดของไวรัส รวมทั้งการรักษาพื้นฐานได้ทำให้เศรษฐกิจของจีนเริ่มกลับมาดำเนินเป็นปกติเป็นประเทศแรกของโลก ส่งผลให้จีดีพีเป็นบวก แทนที่จะติดลบเหมือนประเทศอื่นๆ

ปากีสถานก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะสามารถเข้าถึงวัคซีนของจีนเป็นรายแรกๆ เพราะว่าเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งของจีนในเอเชียใต้ ในขณะที่จีนมีปัญหาในความสัมพันธ์กับอินเดีย จีนมีการลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระเบียงเศรษฐกิจของปากีสถาน ตามข้อตกลง China National Pharmaceutical Group ของจีนจะผลิตวัคซีนโคโรนาไวรัสเพื่อซัพพลายให้ประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรชาวปากีสถานที่มีทั้งหมด 220 ล้านคน

รัสเซียเองก็ต้องการทดลองใช้วัคซีนของจีนเหมือนกัน โดยหน่วยงานของรัสเซียอาจจะผลิตวัคซีนของจีนที่พัฒนาโดยบริษัท CanSino Biologics Inc ของจีน ถ้าหากว่ากระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียให้การอนุมัติ

สื่อ The Global Times ของจีนได้รายงานเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า นายกรัฐมนตรีหลี เค่อเฉียง ของจีนได้ให้คำมั่นว่า จะให้กลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงสามารถเข้าถึงวัคซีนของจีน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความร่วมมือในภูมิภาค

สื่อ The Wall Street Journal สรุปว่า จีนใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูตที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เหมือนกับที่เคยส่งมอบหน้ากาก และอุปกรณ์แพทย์รักษาโคโรนาไวรัสให้กับประเทศต่างๆ ในระยะแรกของการระบาดของไวรัส จีนเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนต้านไวรัสต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้ ประชากรจีนมีมากถึง 1,400 ล้านคน ความท้าทายของจีนต่อไปคือการเดินสายกลางระหว่างการให้ประชาชนจีนเข้าถึงวัคซีนกับการส่งออกวัคซีนให้ประเทศต่างๆ ได้ใช้