ธุรกิจร้านอาหารในอาเซียนกับจุดเปลี่ยนหลัง Covid-19

ธุรกิจร้านอาหารในอาเซียนกับจุดเปลี่ยนหลัง Covid-19

โดย…พัสกร ตรีวัชรีกร

กองทุนบัวหลวง

การเข้ามาของการจัดส่งอาหารออนไลน์ผ่าน Application บนมือถือในตลาดผู้บริโภคอาเซียนนั้น มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวงการอาหารในช่วงที่ผ่านมา เป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะเร่งตัวมากขึ้นในช่วงระยะหลังๆ แต่เหตุการณ์ล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ได้ทำให้ผู้บริโภคแทบทุกคน จำเป็นที่จะต้องรู้จักกับการใช้บริการจัดส่งอาหารออนไลน์นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ร้านอาหารเองก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวในทันที โดยร้านที่ยังไม่เคยขายผ่านออนไลน์ก็ต้องเรียนรู้วิธีการใช้เช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนการเร่งเวลาไปข้างหน้า ราว 1-2 ปี มาถึงในวันที่ Platform ต่างๆ มีร้านอาหารให้เลือกมากมาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย มีตัวเลือกมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ การแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจร้านอาหาร

การแข่งขันจากผู้ให้บริการ Food Apps ก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ที่ผ่านมาจะเห็นผู้เล่นรายใหม่พยายามเข้ามาในตลาด แต่ผู้เล่นที่ยังเป็นผู้นำอยู่ในหลายตลาดอยู่คงหนีไม่พ้น GojeK และ Grab เนื่องจากมีจุดแข็งจากฐานผู้ใช้ในการบริการรถรับส่ง (Ride-sharing) โดย GoJek Startup จากอินโดนีเซีย มีผู้ถือหุ้น ได้แก่ Tencent และ Google ในขณะที่ Grab จากสิงคโปร์นั้น ถือหุ้นโดย SoftBank Group, Toyota และ Microsoft รวมถึง Uber ที่มาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย หลังจากการออกจากตลาดในอาเซียนนี้ จะเห็นว่า ทั้งสองต่างมีผู้สนับสนุนทางการเงินที่แข็งแกร่งทั้งคู่ ดังนั้น การแข่งขันนี้จึงไม่อาจแพ้ชนะกันได้ง่ายๆ ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การหายไปอย่างเงียบๆ ของ Honestbee ซึ่งเป็น Startup จากสิงคโปร์ ปัจจุบัน ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจและการเพิ่มทุนจากนักลงทุนแล้ว ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่ยังมีผู้เล่นรายใหม่ที่กำลังเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้อยู่ เช่น Startup ชื่อ Now.vn และ Baemin ในเวียดนาม รวมถึง Platform จากธนาคาร ชื่อ Robinhood และ Eatable ในไทย การแข่งขันจาก Platform นี้ ถือเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้คุ้นชินกับบริการใหม่นี้เร็วขึ้น

ตัวเลือกร้านอาหารและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ทำให้ร้านอาหารจำเป็นต้องแข่งขันด้านราคาและต่างก็ต้องพยายามควบคุมต้นทุนมากขึ้นเช่นกัน วิธีการหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมนั้นก็คือ ร้านอาหารแบบ Cloud Kitchen หรือ Ghost Kitchen ด้วยการที่มีร้านทำหน้าที่ผลิตอาหารสำหรับขายออนไลน์เป็นจุดประสงค์หลัก โดยใช้เพียงพื้นที่เล็กๆ ในการปรุงอาหารเท่านั้น ไม่ได้เน้นการมีหน้าร้านสำหรับนั่งทาน วิธีการนี้ทำให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนและตั้งราคาแข่งขันกับร้านอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น ในอินโดนีเซียเริ่มมีโมเดลธุรกิจแบบนี้เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ประเทศอื่นๆ จะมีมากขึ้นตามมา ในอีกด้านหนึ่ง ร้านอาหารที่เป็นแบบภัตตาคารนั้นก็เริ่มหาวิธีควบคุมต้นทุนเช่นกัน โดยต้นทุนส่วนใหญ่ของร้านจะอยู่ที่พนักงานและค่าเช่า เทคโนโลยีอย่างการใช้ Mobile ordering ในร้านอาหาร จะช่วยลดงานและจำนวนพนักงานรับออเดอร์ลงได้ ทั้งยังทำให้ลูกค้าไม่ต้องรอนานอีกด้วย

ในวงการ Tech Startup มี Startup จากสิงคโปร์ชื่อ Easy Eat ซึ่งนอกจากการเลือกเมนู สั่งอาหาร และชำระเงินแล้ว ยังสามารถบอกคุณค่าทางโภชนาการและทำ Royalty Program ให้กับร้านได้อีกด้วย อีกหนึ่งนวัตกรรมสำหรับการจัดส่งอาหารที่กำลังใกล้เข้ามามากขึ้น คือ การจัดส่งด้วยโดรน (Drone) ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถกำหนดสถานที่และเวลาอย่างแม่นยำ ทั้งยังสามารถลดระยะเวลาในการจัดส่งลงได้ จากปัจจุบันที่เฉลี่ยประมาณ 30 นาที เหลือเพียง 15 นาที ในอาเซียนนั้น FoodPanda มีแผนที่จะนำ Drone มาใช้ใน สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม นอกจากนวัตกรรมใหม่ดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารอาจต้องมองหาวิธีการเพิ่มมูลค่าในการบริการได้อีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้ไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว โดยที่ยังสามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ เช่น การมีเรื่องราวของร้าน ของอาหาร และวัตถุดิบต่างๆ หรือการทำ Royalty Program ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่ม Traffic ลูกค้าได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

ประชากรในกลุ่มอาเซียนนั้นมีลักษณะคล้ายๆ กันอยู่อย่างหนึ่ง คือ มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้น เป็นตลาดที่มีความหลากหลายทางอาหาร และการจราจรในเมืองค่อนข้างจะแออัด จึงเป็นสาเหตุที่การจัดส่งอาหารออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ตลาดการจัดส่งอาหารทั่วโลกนั้น ประเมินกันว่าจะสามารถเติบโตได้มากขึ้นอีก 10 เท่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้เส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจร้านอาหารนี้ ยังคงทอดยาวออกไปอีกไกล การจัดส่งแบบออนไลน์นั้น จากเดิมที่เป็นตัวเลือกสำหรับช่องทางการขายของร้านค้า ในวันนี้กลายเป็นตัวเลือกที่ร้านอาหารแทบทุกร้านจะไม่มีไม่ได้ ขณะที่การบริการของร้านอาหารเองก็ต้องอาจยกระดับการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ให้ได้อย่างเหนียวแน่นต่างๆ เหล่านี้จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในระยะข้างหน้าสำหรับร้านอาหาร ที่จะกำหนดว่า กิจการไหนจะอยู่รอดหรือไม่