กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX) และกองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)

กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX) และกองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)

สรุปภาพรวมการลงทุน

  • สรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือน ก.ย. ปรับตัวในลักษณะแบนราบมากขึ้น (Flattening) เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก่อน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 3 ปี ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง +1 ถึง +4 bps ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลงในช่วง -1 ถึง -16 bps ภายหลังจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยแผนการประมูลพันธบัตรรัฐบาลไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2564 รวมทั้งแนวโน้มการประมูลพันธบัตรรัฐบาลทั้งปีงบประมาณ 2564 ออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตร

สำหรับนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย 2.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2.5 พันล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด (Expired) 1.3 พันล้านบาท

ธนาคารกลางทั่วโลกมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย  เพิ่มมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ที่ 0-0.25% ยังคงมีการซื้อสินทรัพย์ (QE) ที่ระดับสูง และกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2% (Average Inflation Targeting) ในระยะยาวซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำได้นานขึ้น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ คงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่1.35 ล้านล้านยูโร และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก/เงินกู้ เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแต่ไม่เกิน 2% เป็นต้น

ด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันทื่ 23 ก.ย. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% โดย กนง. ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิม -8.1% เป็น -7.8% แต่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 ลดลงจาก +5.0% เป็น +3.6% จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้ กนง. เห็นว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 และนโยบายการคลังจะต้องเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อเศรษฐกิจ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 102.18 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. และลดลง 0.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมสินค้าอาหารสดและพลังงาน อยู่ที่ 102.96 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. และเพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวได้ในกรอบจำกัด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวจะยังคงผันผวนตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้รวมถึงยังต้องติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังของภาครัฐ ความเสี่ยงที่อาจเกิดการระบาดของ Covid-19 ระลอกที่ 2 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ

  • สรุปภาพรวมตลาดตราสารทุน 

ไตรมาสที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในช่วงผันผวน มีปัจจัยสำคัญ คือ  1) การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2) นโยบาย FED 3) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และ4) การพัฒนาวัคซีน  ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงกดดันตลาดทั่วโลกและคาดว่าตลาดหุ้นโลกจะอยู่ในช่วงปรับฐาน และเคลื่อนไหวแบบ Sideway ไปจนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สำหรับตลาดหุ้นไทย แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยต่างๆ  และความเชื่อมั่นเริ่มบ่งชี้ถึงการฟื้นตัว แต่การที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศ รวมทั้งความผิดหวังต่อการวัคซีนบางตัวที่พบว่ามีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยบางราย ทำให้กระทบต่อความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว นอกจากนี้ มีปัจจัยเพิ่มเติมจากประเด็นทางการเมือง โดยมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในเดือนตุลาคมจะเริ่มมีการพรีวิวผลประกอบการของไตรมาส 3/2020 โดยคาดการณ์กำไรของตลาดมีแนวโน้มปรับลดลงอีก จากการเปิดเศรษฐกิจรับท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าช้ากว่าคาด แนวโน้มการลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ยังไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาในตลาดหุ้นไทย โดยต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจต่างๆ การควบคุมการแพร่ระบาด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยเชิง Sentiment ที่ตลาดให้ความสำคัญมากขึ้นในเดือนนี้

ภาวะตลาดหุ้นไทยเดือน กรกฎาคม – กันยายน 2563  

Source : BBLAM

กลยุทธ์การลงทุน

  • กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX)

กองทุน B-FLEX  มีสัดส่วนในหุ้นไม่มากนัก เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกองทุนเน้นความปลอดภัยของเงินลงทุน ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2563 กองทุนมีสัดส่วนในหุ้นประมาณ 18% ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ เงินฝากและบัตรเงินฝาก โดยตลาดตราสารหนี้อาจจะผันผวนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พันธบัตรระยะยาว มีมูลค่าที่น่าสนใจจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทน ในขณะที่พันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปได้น้อยลง  สำหรับตราสารหนี้เอกชน กองทุนเน้นลงทุนในหุ้นกู้ของกิจการที่มีกระแสเงินสด สภาพคล่องที่ดี ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ต่ำ และโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือน้อย  ด้านตราสารทุนผู้จัดการกองทุนจะใช้ความระมัดระวังในการลงทุนอย่างเต็มความสามารถ เน้นลงทุนแบบ Selective ในหุ้นที่มี พื้นฐานแข็งแกร่งที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจอย่างจำกัด  และมีมูลค่าไม่แพง

ผลการดำเนินงานของกองทุน B-FLEX (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2563)

เกณฑ์มาตรฐาน คือ 1) ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์ (SET TRI) สัดส่วน 50%  ของ NAV  2) ThaiBMA Government Bond Index (Net Total Return) อายุระหว่าง 1-3 ปี สัดส่วน 25% ของ NAV 3) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี วงเงินน้อยกว่า 5 ล้านบาท เฉลี่ยของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ หลังหักภาษี สัดส่วน 25% ของ NAV

  • กองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)

กองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE) เน้นการลงทุนในหุ้นตั้งแต่ 0-100% ซึ่งข้อมูล ณ 30 กันยายน 2563 กองทุน B-ACTIVE ลงทุนในหุ้น 86.66% และตราสารหนี้รวมเงินฝากและบัตรเงินฝาก 13.34% โดยตลาดตราสารหนี้อาจจะผันผวนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พันธบัตรระยะยาว มีมูลค่าที่น่าสนใจจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทน ในขณะที่พันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปได้น้อยลง สำหรับตราสารหนี้เอกชน กองทุนเน้นลงทุนในหุ้นกู้ของกิจการที่มีกระแสเงินสด สภาพคล่องที่ดี ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ต่ำ และโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือน้อย

ด้านตราสารทุน ผู้จัดการกองทุนมีความระมัดระวังในการลงทุน เน้นลงทุนแบบ Selective ในหุ้นที่มี พื้นฐานแข็งแกร่งที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจอย่างจำกัด และมีมูลค่าไม่แพง ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเชิงบวกในหุ้นกลุ่มต่อไปนี้

กลุ่มขนส่ง – ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เติบโตระดับต่ำ เน้นลงทุนในบริษัทที่กำไรสามารถเติบโตได้จากการขยายเส้นทางเดินรถไฟฟ้าและทางด่วน

กลุ่มค้าปลีก – ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตอย่างสม่ำเสมอและได้รับผลกระทบจากวัฎจักรเศรษฐกิจต่ำ เราเลือกลงทุนในบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันและมีความสามารถในการขยายธุรกิจ

กลุ่มวัสดุก่อสร้าง – ช่วงต่อจากนี้ภาครัฐจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งจากงบปัจจุบันที่มีความล่าช้าในการเบิกจ่ายในช่วงที่ผ่านมา งบประมาณใหม่ที่จะเริ่มเดือน ต.ค. และงบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รอการอนุมัติ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่ม

ผลการดำเนินงานของกองทุน B-ACTIVE (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2563)

เกณฑ์มาตรฐาน คือ 1) ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์ (SET TRI) สัดส่วน 50%  ของ NAV  2) ThaiBMA Government Bond Index (Net Total Return) สัดส่วน 25% ของ NAV 3)อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี วงเงินน้อยกว่า 5 ล้านบาท เฉลี่ยของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ หลังหักภาษี สัดส่วน 25% ของ NAV

ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

หมายเหตุ : เผยแพร่ ณ วันที่ 20 ต.ค. 2563 ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง