ศาลอาจจะเป็นผู้กำหนดใครชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ศาลอาจจะเป็นผู้กำหนดใครชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

โดย…ทนง ขันทอง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายโจ ไบเดน อาจจะต้องไปถึงโรงถึงศาลเพื่อที่จะกำหนดว่าผู้ใดจะชนะได้ครอบครองทำเนียบขาว

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความแตกแยกอย่างรุนแรงทางความคิดความอ่านทางการเมืองระหว่างคนอเมริกันด้วยกัน มีการโหวตผ่านไปรษณีย์ที่อาจจะสร้างปัญหาความไม่ชอบมาพากลได้ และศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตั้งป้อมเตรียมที่จะเข้าไปชี้ชนะผู้ชนะการเลือกตั้งถ้าหากว่ามีการฟ้องร้องกันทางกฎหมาย

ถ้าการเลือกตั้งสูสีกันระหว่างทรัมป์และไบเดน และต้องตัดสินชี้ชะตาที่ที่รัฐเพลซิลวาเนีย และรัฐฟลอริด้าที่มีคะแนนตัวแทนของรัฐ (electoral college votes) 20 เสียง และ 29 เสียง ตามลำดับ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องสู้กันทางกฎหมายอย่างเอาเป็นเอาตาย

ด้วยระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางอ้อม ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีต้องได้คะแนนตัวแทนของรัฐอย่างน้อย 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง โดยที่ 538 เสียง ที่เป็นตัวแทนของแต่ละรัฐนี้มาจากจำนวนสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดรวมกัน ผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีชนะในรัฐใด ก็จะได้คะแนนผู้แทนรัฐจากรัฐทั้งทั้งหมดตามกฎผู้ชนะกินทั้งกระดาน (Winner takes all)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้มีความยุ่งยากเนื่องจากปัญหาของการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายรัฐไม่สามารถจัดหน่วยเลือกตั้งได้ ทำให้ต้องใช้การโหวตผ่านการกาบัตรลงคะแนนแล้วส่งทางไปรษณีย์แทนทำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นจำนวนมาก

การโหวตผ่านไปรษณีย์จะสร้างปัญหายุ่งยากทางกฎหมายเพราะว่าจะมีการเทียบลายเซ็นว่าตรงกับลายเซ็นเดิมหรือไม่ ดูวันที่แสตมป์จดหมายไปรษณีย์ว่าปั๊มก่อนหรือหลังวันเลือกตั้งที่ 3 พฤศจิกายน รวมทั้งการใช้ drop box หรือกล่องใส่คะแนนที่วางที่สาธารณะเพื่อสำหรับเก็บบัตรลงคะแนนของผู้ออกสิทธิ์

“หลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ทีมทนายความของเราจะลงมือทำงานทันที” ทรัมป์พูดในวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับการลงคะแนนผ่านระบบไปรษณีย์ เพราะว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายเดโมแครตโกงการเลือกตั้ง เขาเรียกร้องให้คนอเมริกันไปใช้สิทธิ์ไหวตที่คูหาการเลือกตั้ง

สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า การตัดสินของศาลในข้อพิพาทเรื่องการนับคะแนนที่ส่งเข้ามาทางไปรษณีย์มีแนวโน้มว่าจะทำให้มีการฟ้องร้องในกรณีที่ผลของการเลือกตั้งมีคะแนนออกมาสูสีกันระหว่างทรัมป์กับไบเดน

ศาล The 8th U.S. Circuit Court of Appeals ตัดสินในวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า การยืดเวลาให้กับบัตรลงคะแนนที่ส่งเข้ามาทางไปรษณีย์หลังวันที่ 3 พฤศจิกายน ของรัฐมินีอาโซต้าว่า สามารถเอาไปนับคะแนนได้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมินิอาโซต้าแยกบัตรลงคะแนนที่ส่งเข้ามาหลังวันที่ 3 พฤศจิกายน ออกไปจากบัตรที่ส่งเข้ามาก่อน หรือเข้ามาในวันที่ 3 พฤศจิกายน พอดี

ทางเจ้าหน้าที่รัฐมินิโซต้าจะอุทธรณ์เรื่องนี้ในระดับศาลท้องถิ่น แต่จะไม่นำไปฟ้องร้องในศาลรัฐธรรมนูญ

ในขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้ยืนยันในคำตัดสินของศาลสูงสุดของรัฐเพนซิลวาเนียว่า อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนับคะแนนของบัตรลงคะแนนที่ส่งทางไปรษณีย์ที่ได้รับการปั๊มตราไปรษณีย์ในวันเลือกตั้ง และหลังวันเลือกตั้ง 3 วัน

โพลสำนักต่างๆ ส่วนมากทำนายว่าคลื่นสีฟ้า (Blue Waves) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคเดโมแครตจะชนะการเลือกตั้ง ทั้งระดับประธานาธิบดี และจะครองเสียงข้างมากในสภาคอนเกรซ

แต่ยังไม่มีความแน่นอนสูงทำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพราะว่าแม้ว่าไบเดนจะชนะทรัมป์ตามคะแนนที่นับ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ต้องมีการเล่นเกมตุกติกกันเป็นธรรมดาของการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย แต่ทีมกฎหมายทรัมป์สามารถนำเรื่องไปฟ้องร้องในศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษ์นิยมครองเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เนื่องจากล่าสุด ทรัมป์สามารถแต่งตั้ง Amy Barrett เข้าไปเป็นผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ

ทรัมป์ เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม ส่วนไบเดนเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต หรือฝ่ายซ้ายลิเบอรัล

กล่าวโดยสรุปแล้ว ทรัมป์จะเสียเปรียบในเรื่องการนับคะแนนเลือกตั้ง แต่จะได้เปรียบถ้าหากว่ามีการฟ้องร้องผลของการเลือกตั้งในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องจับตาดูกันว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยปี 2000 หรือไม่ ที่จอร์จ บุช ชนะ อัล กอร์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยศาลรัฐธรรมนูญเข้าข้างบุชให้บุชชนะการเลือกตั้งในรัฐฟลอริด้า โดยไม่ให้มีการนับคะแนนใหม่