BF Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2021

BF Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2021

BF Economic Research

Core Macro Theme

เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวภายหลัง COVID-19 แต่เป็นการฟื้นตัวในอัตราที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ (สะท้อนจาก GDP ในไตรมาส 3/2020 ดังรูป) จากความแตกต่างด้านโครงสร้างของเศรษฐกิจ, การปรับตัวของธุรกิจ, และนโยบายจากทางการ/ธนาคารกลาง ของแต่ละประเทศ สหรัฐฯขยายตัวก้าวกระโดดที่ 33.4% QoQ saar (จากไตรมาสก่อนที่ -31.4%) หนุนโดยมาตรการกระตุ้นทางการคลังระยะที่ 3 เป็นหลัก ผ่านโครงการการจ่ายเงินให้เปล่ากับประชาชนเป็นรายสัปดาห์ จึงส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนดีดตัวขึ้นสูงในช่วงนั้น

ขณะที่ GDP จีนในไตรมาส 3/2020 ขยายตัว 4.9% YoY ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน (3.2%YoY) หนุนโดยภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับเศรษฐกิจในเอเชียอื่นๆ (ยกเว้นเวียดนาม)ใน ไตรมาส 3/2020 โดยส่วนใหญ่ยังคงหดตัว เนื่องด้วยประเทศในเอเชียพึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงฟื้นตัวได้ช้ากว่าสหรัฐฯและจีน และอาจจะใช้เวลาไปถึงปี 2021กว่าจะเริ่มฟื้นตัว การขยายตัวที่แตกต่างและไม่ทั่วถึง (Uneven and Unequal Growth) เช่นนี้น่าจะดำเนินต่อเนื่องไปถึงปี 2021

เรามองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 4-6% (ค่ากลาง 5.4%) จากปี 2020 ที่เรามองว่าจะหดตัว -4.4% โดยเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะกลับไปในระดับที่ใกล้เคียงปี 2019 หนุนโดยเศรษฐกิจประเทศจีนเป็นหลัก สำหรับประเทศไทยเรามองว่าจะหดตัว -6.4% ในปี 2020 (เป็นการปรับประมาณการเพิ่มขึ้น จากที่เห็นว่าการบริโภคฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาด) และจะทยอยค่อยๆ ฟื้นตัวที่ 3.8% แต่ยังไม่สามารถกลับไปเท่ากับในช่วง Pre-COVID-19

GDP รายไตรมาสของประเทศต่างๆ ในปี 2020

ที่มา: Bloomberg, ประมาณการโดยกองทุนบัวหลวง

ประมาณการ GDP ปี 2020-2021

ที่มา: Bloomberg, ประมาณการโดยกองทุนบัวหลวง

 

ทั้งนี้ เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยง เนื่องด้วย

ตัวเลขการติดเชื้อ COVID-19 เริ่มเร่งตัวอีกครั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการติดเชื้อในรอบนี้มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวดีคือ ยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเม.ย. ขณะที่ผู้ติดเชื้อในรอบนี้อายุเฉลี่ยน้อยกว่าเป็นผลให้อัตราผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเม.ย. นอกเหนือจากนั้น ระบบการแพทย์ส่วนใหญ่สามารถรับมือได้ดีขึ้น ทำให้การแพร่ระบาดในครั้งนี้ไม่รุนแรงเท่ากับรอบแรก กระนั้น ในข่าวดีก็ยังมีข่าวร้าย เพราะแม้ว่าการแพร่ระบาดจะไม่รุนแรงเท่าเดิม แต่รัฐบาลคงจะต้องนำมาตรการล็อคดาวน์มาใช้อีกเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่อาจจะมีผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก

ธนาคารกลางและรัฐบาลจะคงระดับของการผ่อนคลายจากปี 2020 เนื่องด้วยรัฐบาลได้อัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่และธนาคารกลางทั่วโลกได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับต่ำสุดไปแล้วในช่วง ครึ่งแรกของปี 2020 ทำให้ทางการประสบกับข้อจำกัดของการผ่อนคลายเพิ่มเติม เนื่องด้วยจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพทางการใช้นโยบาย จะเป็นผลให้ทางการไม่สามารถผ่อนคลายเชิงนโยบายไปได้มากกว่านี้ การดำเนินนโยบายการคลังและการเงินของโลกในช่วงปี 2021จึงจะอยู่ในลักษณะประคับประคอง และทางการอาจจะเลือกดำเนินนโยบายเฉพาะจุดที่ประสบปัญหามากกว่าที่จะใช้วิธีผ่อนคลายทั้งระบบ

ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้ต้องล้มหายตายจากไป ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้วิถีการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป โดยที่คนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น คอนเสิร์ต, กีฬา, บันเทิง, ท่องเที่ยว, ร้านอาหารและเครื่องดื่ม หรือกิจกรรมอื่นๆ ในที่ชุมชน ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านี้ (ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคบริการ) ได้รับผลกระทบในสัดส่วนสูง ยิ่งหากรัฐบาลออกกฎควบคุมจำนวนคนในที่ชุมชน ก็จะไปกดดันยอดขายและผลกำไร ยิ่งถ้าหากธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้อาจจะส่งผลให้ธุรกิจตัดสินใจปิดตัวเองลงหรือตัดขาย Business Unit นั้นๆ ทิ้งไป

สำหรับธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ก็จะต้องปรับตัวด้วยการใช้โมเดลธุรกิจแบบใหม่เข้ามาใช้ เช่น ร้านค้าเปิดบริการจัดส่งสินค้า/บริการ ถึงบ้าน, ธุรกิจนัดประชุมพบปะลูกค้าผ่านการประชุมออนไลน์, ธุรกิจโรงแรม/อสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนมาให้บริการเหมาเช่าพื้นที่ของโรงแรมเพื่อใช้อยู่อาศัยระยะยาวแทนการเปิดรับนักท่องเที่ยว เป็นต้น การเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจเช่นนี้เป็นการปรับตัวเพื่อให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง แต่ธุรกิจอาจจะไม่สามารถสร้างผลกำไรได้เท่าเดิม กระนั้นก็ตาม อาจจะมีธุรกิจเล็งเห็นโอกาสจึงคิดค้นธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อตอบรับกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปและสร้างรายได้มหาศาล เช่น การเปิดบริการให้ความบันเทิงออนไลน์, การให้บริการ Business Solutions บน Online Platform ที่ผู้ใช้บริการและ ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องพบหน้ากัน และการควบรวม Online Platform ที่ตอบโจทย์การทำธุรกรรมทางการเงินในที่เดียว เป็นต้น

ไม่ว่าธุรกิจจะปิดตัวลง ปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจ หรือสร้างธุรกิจใหม่ ธุรกิจล้วนแล้วแต่จะปรับอัตราการจ้างพนักงานน้อยลง ไม่ว่าจะด้วยการปรับลดจำนวนลูกจ้างหรือกำหนดอัตราว่าจ้างที่ถูกกว่าเดิม รวมถึงอาจจะปรับลดแผนการลงทุนในอนาคต โดยอาจดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สามารถสร้าง Business Synergy ได้แต่ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินเท่าแต่ก่อน นั่นหมายความว่าตราบใดที่เรายังไม่มีวิทยาการทางการแพทย์ที่จะเอาชนะ COVID-19 ได้ วิถีชีวิตของคนยังไม่กลับไปเป็นแบบเดิม เศรษฐกิจก็จะยังไม่กลับไปขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อน COVID-19

โดยสรุป COVID-19 เป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลกจากเดิมที่ขยายตัวในอัตราชะลอตัวอันเป็นผลจากความตึงเครียดด้านการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) กลับกลายเป็นพลิกกลับมาหดตัวอย่างหนักเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสเป็นเหตุให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2020

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 นี้ COVID-19 ก็ยังคงเป็นความเสี่ยงหลักและเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก เรามองว่าเศรษฐกิจโลกปี 2020 จะหดตัวที่ -4.4% ก่อนที่จะฟื้นตัวจากฐานต่ำมาอยู่ในกรอบ 4-6% (ค่ากลาง 5.4%) ในปี 2021 กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาเดินเครื่องได้บ้าง แต่ไม่น่าจะกลับไปเดินเครื่องเต็มรูปแบบได้เท่ากับปี 2019

ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวงจะทยอยนำ ฺBF Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2021 ของแต่ละประเทศมาลงอย่างต่อเนื่อง ท่านสามารถติดตามได้ใน BF Mobile Application

หรือ ติดตาม BF Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2021 ฉบับเต็มได้ที่ 1H2021 Economic Review Final.pdf