The next big thing: Disruption

The next big thing: Disruption

ฺBF House view

by…วนาลี ตรีสัมพันธ์

Disruptive Innovation คือ นวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนให้สินค้าและบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันล้าสมัยลง และอาจล้มหายตายจากไปในที่สุด ตลอดจนเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้คน หรืออาจแปลง่ายๆ ได้ว่า “นวัตกรรมพลิกโลก” นั่นเอง หากยกตัวอย่างนวัตกรรมพลิกโลกในยุคแรกๆ นั้น เกิดขึ้นในปี 1908 เมื่อบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ออกขายรถยนต์รุ่น Model T ในราคาที่ใครๆ ก็ซื้อได้ ทำให้ใน 20 ปีต่อมา เราก็แทบจะไม่เห็นรถม้าบนถนนอีกเลย อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ Nokia บริษัทผู้ผลิตมือถือและโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก กลับเสียแชมป์ให้ Apple บริษัทผู้ผลิต iPhone เพราะมัวแต่โฟกัสที่ Hardware มากกว่า Software ในขณะที่โลกของการติดต่อสื่อสารกำลังเปลี่ยนจากทางเสียง เป็นการสื่อสารทางข้อมูล เพราะกลัวว่าหากเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปนั้น จะเสียลูกค้ากลุ่มเดิมไป อีกทั้งยังประเมินค่าแบรนด์สินค้าของตัวเองสูงเกินไป คิดว่าถึงแม้จะไม่ใช่ผู้นำด้าน Software แต่แบรนด์จะแข็งแรงพอให้ดึงลูกค้าไว้ได้ สุดท้ายบริษัทก็พัฒนาซอฟต์แวร์ไม่ทัน Android ของ Google และ iOS ของ Apple

ตลาดหุ้นเองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนพฤติกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย ผ่านทางมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของหุ้นในยุคนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ปี 1917 ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์คิดค้นเครื่องจักรขึ้นมาเพื่อใช้ทุ่นแรงคน ในช่วงนั้นหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปเนื้อสัตว์ ขณะที่ในอีก 50 ปีถัดมา เราก้าวเข้าสู่ยุคที่มนุษย์นำคอมพิวเตอร์มาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการติดต่อสื่อสาร คำนวณและแก้ปัญหาต่างๆ หรืออาจเรียกว่า ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ หุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรกก็ได้เปลี่ยนหน้าตาไป หุ้นเหล็กที่เคยมีมูลค่าตามราคาตลาดอันดับ 1 นั้น ถูกแทนที่ด้วยหุ้นของบริษัทที่ผลิตและให้บริการด้านคอมพิวเตอร์ หุ้นของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์การเกษตร ก็ถูกแทนที่ด้วยบริษัทผลิตรถยนต์ และบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพ อย่างไรก็ตาม เรายังเห็นหุ้นโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น โทรคมนาคมหรือพลังงาน ยังคงติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ซึ่งสะท้อนว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ความเจริญ และความเป็นเมือง (Urbanization) ได้ขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2020 นี้ เราเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “Platform Era” ที่สิ่งของทุกอย่างบนโลกใบนี้สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายในแบบต่อเนื่องและสองทาง (interactive) ทำให้เกิดการสร้างและแลกเปลี่ยนมูลค่าเศรษฐกิจขึ้นมา หรือเรียกว่ายุคแห่งข้อมูลข่าวสารนั่นเอง ตัวอย่างของธุรกิจแบบ Platform ที่ทุกคนรู้จักกันดี คือ Uber Alibaba Facebook YouTube หรือ Amazon ดังนั้นหุ้นที่มูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด 5 อันดับแรกจึงเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งสิ้น

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ นั่นก็คือ Tesla บริษัทผู้ผลิต “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่สั่นสะเทือนวงการยานยนต์โลก ทั้งนี้ ถ้าในปี 2010 เราลงทุนในหุ้น Tesla จำนวน 100 เหรียญสหรัฐ ในปี 2020 มูลค่าเงินลงทุนของเราจะกลายเป็น 14,625 เหรียญสหรัฐ หรือได้รับผลตอบแทนมากถึง 14,500% เหตุผลที่นักลงทุนยอมจ่ายแม้หุ้นจะขึ้นมามากแล้วนั้น เพราะ Tesla ไม่ได้ขายแค่ความเป็นรถยนต์เท่านั้น แต่จุดเด่นของ Tesla คือมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดยเฉพาะระบบ Autopilot หรือระบบช่วยขับที่ถือเป็นจุดสร้างความแตกต่างในตลาดรถยนต์ ที่อัพเดททุกคืนๆ ที่กลับเข้าบ้าน (The-air updates) แถมยังทำการอัพเดทเฟิร์มแวร์ (Firmware) ในทุกๆ เดือนจากศูนย์ผ่าน ระบบ 5GHz นอกจากนี้ยังคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Energy) อีกด้วย

อีกกรณีศึกษาหนึ่ง ก็คือ Netflix ผู้ให้บริการคอนเทนท์ระดับโลกที่เข้ามาเปลี่ยนวงการบันเทิง รวมถึงชีวิตผู้คนทั่วโลกในเวลานี้ ความสำเร็จของ Netflix เริ่มต้นจากการมองเห็นถึงความไม่สะดวกสบายของผู้บริโภค จึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหา ทั้งนี้ หากในปี 2010 เราลงทุนในหุ้น Netflix จำนวน 100 เหรียญสหรัฐ ปี 2020 มูลค่าการลงทุนของเราจะกลายเป็น 6,125 เหรียญสหรัฐ หรือได้รับผลตอบแทนสูงถึง 6,000% เลยทีเดียว

ในโลกปัจจุบัน ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และพร้อมตอบสนองสิ่งใหม่เสมอ การนำเทคโนโลยีมาใช้จะเป็นการทุ่นแรง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนไปถึงวิเคราะห์คาดการณ์สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในอนาคต หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนลง อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้จะประสบความสำเร็จ และครองใจผู้บริโภคได้ ยังต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องพร้อมและปรับตัวให้เร็ว ก้าวนำความต้องการของผู้บริโภคได้

ผู้บริโภคสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่าสิ่งของ มีพฤติกรรมการเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น และยังตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาล หรือ  ESG ด้วย ดังนั้น ธุรกิจที่เราเชื่อว่าจะเป็น Winner ในทศวรรษนี้ ได้แก่ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Automotive Evolution) ที่จะค่อยๆ เข้ามาแทนที่เครื่องยนต์แบบสันดาป และจะส่งผลกระทบถึงความต้องการการใช้พลังงานที่มาจากน้ำมันในอนาคต ธุรกิจพลังงานทดแทน (Renewables) ที่เข้ามาเป็นตัวเลือก เพราะมนุษย์ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจะจำกัดให้ราคาพลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม และ แก๊สธรรมชาติ ไม่สูงเกินไป ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ (New Retail) ในรูปแบบของการผสมผสานระหว่างการทำธุรกรรมแบบออนไลน์และออฟไลน์แบบเก่าเข้าด้วยกัน และสามารถชำระเงินทางผ่านทางออนไลน์ หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ธุรกิจสื่อออนไลน์ (On-demand Media) เนื่องจากสมาร์ทโฟนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตไปแล้ว ผู้คนต่างก็เสพสื่อผ่านทางออนไลน์มากกว่าการดูโทรทัศน์แบบเดิม  ธุรกิจสุดท้ายคือ ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานแบบเดิมๆ และลดการใช้แรงงาน และต้นทุนลง เป็นต้น

กองทุนบัวหลวงเชื่อว่าโอกาสการลงทุนสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวงจรเศรษฐกิจ โดยการเลือกลงทุนในบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมขับเคลื่อน ตลอดจนถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตนวัตกรรมที่เป็นเทรนด์การเติบโตของโลก โดยไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรือ ธุรกิจ Healthcare เท่านั้น อาจเป็นบริษัทขนาดเล็กที่ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และมีความเข้าใจกลุ่มผู้บริโภค จึงสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนั่นเอง