กองทุนความยั่งยืนในสายตาของไอเอ็มเอฟ

กองทุนความยั่งยืนในสายตาของไอเอ็มเอฟ

โดย…ทนง ขันทอง

นักลงทุนทั่วไปมีความเห็นว่า การลงทุนในบริษัทที่ให้การสนับสนุนความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และบรรษัทภิบาลเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรจะทำ

ส่วนทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ได้ทำวิจัย และพบว่า การลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนให้ผลตอบแทนที่ดี หรือไม่แตกต่างจากกองทุนหุ้นทั่วๆ ไป

รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF’s Global Financial Stability Report, October 2019) พบว่า ผลตอบแทนของกองทุนที่เน้นนโยบายความยั่งยืนสามารถเทียบเคียงกับกองทุนหุ้นทั่วไปได้

“เราไม่พบหลักฐานเฉพาะที่ว่า นักลงทุนที่เน้นความยั่งยืนจะได้รับผลตอบแทนน้อยกว่า หรือมากกว่านักลงทุนโดยทั่วไปสำหรับการลงทุนที่คล้ายกัน” นาย Evan Papageorgiou ผู้เขียนรายงาน และมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่าย Monetary and Capital Markets Department ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าว

รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ พบว่า นักลงทุนไม่ได้เสียโอกาสของการได้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในกองทุนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

การลงทุนในรูปแบบ ESG จะเน้นให้ความสำคัญกับบริษัทที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ การเปิดโอกาสกว้างสำหรับพนักงานทุกคนโดยไม่คำนึงถึงชนชั้น วรรณะหรือผิวสี และการมีการทำระบบบัญชีที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประมาณการว่า มีกองทุนหุ้นประมาณ 1,500 กองทั่วโลก ที่มีนโยบายเรื่องความยั่งยืนที่ชัดเจน กองทุนเหล่านี้มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารรวมกัน 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเติบโตจาก 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2010

โดยภาพรวม กองทุน ESG ยังคงต้องใช้เวลาเพื่อที่จะเป็นที่ยอมรับมากกว่านี้จากโลกของการลงทุนกระแสหลัก เนื่องจากว่าสัดส่วนของกองทุนที่เน้นความยั่งยืนเทียบเท่าเพียง 2% ของกองทุนทั้งหมดในโลก

แต่ความตื่นตัวในเรื่อง ESG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับเป้าหมายของการพัฒนาในปี 2030ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและประเทศทั่วโลกยึดถือปฏิบัติตาม