ทำไมต้องลงทุน RMF แค่ช่วงปลายปี?

ทำไมต้องลงทุน RMF แค่ช่วงปลายปี?

โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

เคยมั้ย เดือนธันวาคมมาถึงทีไร เป็นต้องวิตกกังวลว่าจะลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีกองไหน ลงทุนเท่าไหร่ กว่าจะตัดสินใจได้ วันสุดท้ายของปีถึงจะมาลงทุนกัน แล้วก็ชอบบอกกับตัวเองว่า เอาน่า เดี๋ยวปีหน้าค่อยวางแผนใหม่ เดี๋ยวปีหน้าค่อยทำให้ดีกว่าเดิม สุดท้ายปีหน้ามาถึงกลายเป็นปีนี้ ทุกอย่างก็เข้าสู่สิ่งเดิมๆ เหมือนเดิมแบบทุกๆ ปีที่ผ่านมา แล้วก็คิดว่า เพิ่งจะต้นปี จะรีบลงทุน RMF ไปทำไม? ยังมีเวลาอีกตั้งหลายเดือน เบื่อกันหรือยังคะกับสิ่งเดิมๆ เราลองมาเริ่มต้นสิ่งใหม่กันดีกว่า

อยากจะบอกเหลือเกินว่า การลงทุนในกองทุนรวม RMF ไม่จำเป็นต้องลงทุนแค่ช่วงปลายปี หรือต้องมารอจนวันสุดท้ายของปีแล้วค่อยลงทุนค่ะ เราสามารถคำนวณจำนวนเงินลงทุนได้ตั้งแต่ต้นปีแล้วว่าจะลงทุนเท่าไหร่ สิทธิที่เราสามารถลงทุนได้คือเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือน เดือนละ 50,000 บาท ทั้งปีคือ 600,000 บาท สามารถลงทุนในกองทุนรวม RMF ได้สูงสุด 180,000 บาท (600,000 x 30%) ถ้าอยากลงทุนเต็มสิทธิก็สามารถทยอยลงทุนได้

ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนเดือนละ 10,000 บาท รวม 12 เดือน ก็คือ 120,000 บาท ยังเหลือสิทธิลงทุนได้อีก 60,000 บาท ก็อาจจะรอดูจังหวะ หรือเปิดโอกาสให้กับกองทุน RMF ใหม่ๆ ที่มีเพิ่มขึ้นในแต่ละปี

การทยอยลงทุนทุกเดือนตามตัวอย่าง เดือนละ 10,000 บาทนั้น เราสามารถใช้วิธี DCA (Dollar Cost Average) หรือการลงทุนแบบเท่ากันทุกเดือน โดยไม่ต้องกังวลว่าวันนี้ราคาจะขึ้นหรือลง แต่เป็นการลงทุนแบบมีวินัยในตัวเอง อย่างเช่น เราต้องการลงทุนทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน ในกองทุนเปิดบัวหลวงทศพลเพื่อการเลี้ยงชีพ (ฺB-TOPTENRMF) ส่วนเงินลงทุนอีก 60,000 บาท ก็เอาไว้รอลงทุนแบบจับจังหวะบ้างถ้าใครชอบ หรือหากมีกองทุนใหม่จัดตั้งก็ยังมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่สามารถลงทุนได้อีก

จากตารางการลงทุนในปี 2563 จะเห็นว่าเฉลี่ยแล้ว เงินลงทุนทั้งหมด 120,000 บาท จะได้หน่วยลงทุนจำนวน 15,315.8690 หน่วย แต่ถ้าหากเราลงทุนแค่ครั้งเดียวในวันทำการสุดท้ายของปีจำนวน 120,000 บาท เท่ากัน จะได้หน่วยลงทุนเพียง 14,720.3140 หน่วยเท่านั้น (120,000/8.1520)

นอกจากนี้ เราสามารถจัดพอร์ตการลงทุนของเราเองได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพียงแค่กองทุนเดียว เนื่องด้วยกองทุนรวม RMF มีหลากหลายนโยบาย และเราต้องลงทุนไปนานๆ หลายๆ ปี จึงควรมีการลงทุนอย่างหลากหลายตามความเสี่ยงที่เรารับได้ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หุ้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี หุ้นสุขภาพ หรือทองคำ ก็สามารถเลือกสรรจัดพอร์ตการลงทุนเองได้ เช่น การลงทุน 10,000 บาทโดยการทำ DCA ทุกเดือน โดยการจัดสรรการลงทุน เท่าๆ กัน 4 กองทุน เช่น

  • กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-TOPTENRMF) 2,500 บาท
  • กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-INNOTECHRMF) 2,500 บาท
  • กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF) 2,500 บาท
  • กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-GOLDRMF) 2,500 บาท

ถ้าลงทุน โดยการ DCA ทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน ในปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับลงทุนวันทำการสุดท้ายของปีในครั้งเดียว การทยอยลงทุนทุกเดือนจะได้ต้นทุนถัวเฉลี่ยที่ต่ำกว่าการลงทุนเพียงครั้งเดียว และไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการลงทุน (ทยอยลงทุนด้วยเงินก้อนเล็กๆ ทุกเดือน) ที่สำคัญคือไม่ลืมลงทุนตามเป้าหมายที่เราต้องการ

ดังนั้น ปีนี้ เริ่มปรับเปลี่ยนการลงทุนของเราให้มีวินัย และไม่ต้องกังวลว่าจะหลงลืมด้วยการลงทุนแบบ DCA ทุกเดือน หากมีรายได้เพิ่มเติมก็ค่อยลงทุนเพิ่มตามสิทธิที่เราสามารถลงทุนได้ หรือเมื่อมีกองทุนใหม่ๆ ที่น่าสนใจก็สามารถลงทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคตค่ะ