Fund Comment พฤษภาคม 2564 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment พฤษภาคม 2564 : มุมมองตลาดตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือน พ.ค. 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ในช่วง -1 ถึง +6 bps โดยในช่วงครึ่งแรกของเดือน อัตราผลตอบแทนโดยรวมมีทิศทางปรับลดลงตามการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ที่ถึงแม้จะยังมีความกังวลด้านการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและการปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรของ Fed แต่ตลาดเริ่มจะตอบรับแนวโน้มดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 อัตราผลตอบแทน UST10Y ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 70 bps ตลาดจึงคาดการณ์ว่าการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ต่อจากนี้จะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป จึงมีการกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ตลาดตราสารหนี้ไทยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังของเดือน จากการประกาศ พรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของ COVID-19 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท (เบื้องต้นวงเงินไม่เกิน 700,000 ล้านบาท ตามที่ประกาศในวันที่ 18 พ.ค.) ทำให้ตลาดมีความกังวลถึงการกู้เงินผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ รวมถึงการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องและราคาตราสารหนี้ จึงมีการขายพันธบัตรระยะยาวออกมา

แนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ถึงแม้ในระยะยาวจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายด้าน เช่น Manufacturing & Services PMI, Initial Jobless Claim, และ Jobs Opening เป็นต้น ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อ (Core PCE) เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ที่ระดับ 3.1% yoy ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี ตลาดจึงเริ่มมีการคาดการณ์ถึงการปรับลดวงเงิน QE รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันด้านอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่ยังคงติดลบ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเกิดจากระดับฐานเงินเฟ้อในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ตลาดจึงยังต้องติดตามว่าระดับเงินเฟ้อดังกล่าวจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวหรือไม่ ประกอบกับที่ผ่านมา FOMC ยังคงเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจยังคงมีความผันผวนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จนกว่าจะมีการจ้างงานเต็มประสิทธิภาพ และอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเกินระดับ 2% พอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น จึงคาดว่าในระยะสั้นการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะเคลื่อนไหวในช่วงแคบ

สำหรับประเทศไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ จากแนวโน้มที่คาดว่ากนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อไป โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดวันที่ 5 พ.ค. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดย กนง. ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก Covid-19 และมีจีดีพีในไตรมาสแรกหดตัวถึง 2.6% ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการกระจายวัคซีนเป็นหลัก หากมีการดำเนินการฉีดวัคซีนได้ต่ำกว่า 65 ล้านโดสในปีนี้ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติอยู่ในระดับต่ำที่ 8 แสนคน และเศรษฐกิจไทยจะมีการเจริญเติบโตต่ำเพียง 1%

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการทบทวนประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน มิ.ย. นี้ จากระดับประมาณการในปัจจุบันอยู่ที่ 3% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวคาดว่าจะได้รับผลกระทบ จากดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน เม.ย. ที่ขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ระดับ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงผลของการกู้ยืมตาม พรก. เพิ่มเติมจำนวน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 2564 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวได้ในกรอบจำกัด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีโอกาสผันผวนในทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้น จากทั้งปัจจัยต่างประเทศตามแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยภายในประเทศโดยเฉพาะ พรก. กู้ยืมเพิ่มเติมจำนวน 5 แสนล้านบาท ที่ตลาดกำลังติดตามแนวทางการจัดหาเงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ว่าจะมีผลต่อปริมาณการออกพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นมากเพียงใด