กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ (7:0) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ (7:0) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%

BF Economic Research

ธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ (7:0) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ในการประชุมประจำเดือนมิ.ย. เช่นเดียวกับการประชุมก่อนหน้านี้แถลงการณ์ของกนง. เน้นว่า “นโยบายการเงินจะต้องยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลาย” ในขณะที่คณะกรรมการ “พร้อมที่จะใช้กรอบนโยบายที่จํากัด ในเวลาที่จำเป็นเพื่อให้นโยบายได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

  • ในการประชุมครั้งนี้กนง. ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงในปี 2021 ลงเป็น 1.8% จาก 3.0% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมี.ค. โดยอ้างอิงคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

  • กนง. คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 7 แสนคนในปี 2021 นี้ จาก 3 ล้านคนในประมาณการก่อนหน้า (แม้ว่ารัฐบาลจะมีการอนุมัติของรัฐบาลภูเก็ต ‘Sandbox’ ในเดือนก.ค.ก็ตาม) นอกจากนี้ กนง. ยังปรับลด GDP ปี 2022 ลงเหลือ 3.9% (เทียบกับ 4.7% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมี.ค.) โดยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพียง 10 ล้านคนเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2022 (เทียบกับ 21.5 ล้านคนในประมาณการก่อนหน้านี้)
  • กนง. มองว่าตลาดแรงงานจะยังคงเปราะบางและฟื้นตัวช้าเนื่องจากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ยังเปราะบาง ผนวกกับ COVID-19 เฟสสามที่จะกระทบความต้องการภายในประเทศ โดยรวม กนง. คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนลดลง และได้ระบุว่าความเสี่ยงที่สําคัญต่อการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจคือการกลายพันธุ์ของไวรัส การลดลงของประสิทธิภาพของวัคซีน และความไม่ต่อเนื่องของการสนับสนุนทางการคลัง
  • กนง. ยังคงเน้นความสําคัญของมาตรการกระตุ้นการคลังที่เพียงพอและต่อเนื่องควบคู่ไปกับ “มาตรการฟื้นฟูทางการเงิน” อาทิเช่น แพคเกจสินเชื่อ SMEs และการขยายมาตรการเงินกู้เพื่อประคองเศรษฐกิจในปีนี้
  • กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2/2021 อาจจะยังพุ่งสูงขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อระยะกลางน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบปกติ ทั้งนี้ กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.2% ใน 2021 และ 2022 โดยเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1% – 3%
  • สำหรับการส่งออก กนง. คาดว่าการส่งออกและการนําเข้าจะเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้โดยเป็นผลให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ -1.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2021 ซึ่งเป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 ทั้งนี้ กนง. คาดว่าบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2022 ด้านค่าเงินบาทนั้นปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคอื่น ๆ โดยที่กนงจะติดตามพัฒนาการของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

การส่งออกไทยมีมูลค่า 23,057 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 41.59% YoY ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกขยายตัว 45.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 22,261 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 63.54% ส่งผลให้เดือนพ.ค. เกินดุลการค้า 795 ล้านดอลลาร์ฯ

สำหรับภาพรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 10.78% การนำเข้า มีมูลค่า 107,141 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 21.52% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 1,494 ล้านดอลลาร์ฯ

สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ประกอบด้วย

1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ผักและผลไม้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร

2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ

3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง กลายเป็นสินค้าที่มีความสำคัญในช่วงที่มีการระบาด

4) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

5) สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวสูงถึง 170.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยเฉพาะตลาดเวียดนามที่เติบโตสูงถึง 922% สืบเนื่องจากการผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเข้าของเวียดนาม

ด้านภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดต่างๆ นั้น พบว่า ตลาดหลัก ขยายตัว 39.9% เช่น สหรัฐฯ ขยายตัว 44.9% ญี่ปุ่น ขยายตัว 27.4% สหภาพยุโรป ขยายตัว 54.9% ตลาดจีน ขยายตัว 25.5% ตลาดอาเซียน ขยายตัว 51% ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 65.4% ได้แก่ เอเชียใต้ ขยายตัว 184.1% ออสเตรเลีย ขยายตัว 35.1% ตะวันออกกลาง ขยายตัว 39.9% แอฟริกา ขยายตัว 60.2% ละตินอเมริกา ขยายตัว 129.9% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 58.2%

ในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 4% ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 10.78% แล้วก็ตาม ซึ่งคาดว่าแนวโน้มการส่งออกหลังจากนี้ไปจะยังสามารถทำหน้าที่เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้ ยกเว้นแต่จะมีวิกฤติการณ์อันคาดไม่ถึงเข้ามากระทบต่อไทยและทั่วโลก