ท่องเที่ยวไทย ในวันฟ้าหม่น

ท่องเที่ยวไทย ในวันฟ้าหม่น

โดย…วนาลี ตรีสัมพันธ์

กองทุนบัวหลวง

นับจากวันที่กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยครั้งแรก คือ วันที่ 12 มกราคม 2563 นั้น ก็เป็นเวลาเกือบจะ 2 ปีแล้ว ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเข้าสู่หน้ามรสุมแบบไม่ทันได้ตั้งตัว

หากถามว่า ภาคการท่องเที่ยวนั้นสำคัญกับประเทศไทยมากแค่ไหน ขอยกตัวอย่าง โดยเล่าย้อนไปในปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือที่เราเรียกกันติดปากกันว่า สนามบินสุวรรณภูมินั้น เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปีนั้น เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพียง 13.8 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวน 485,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 6% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนโควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลกนั้น ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวจำนวนเกือบ 40 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ในช่วงระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้น (CAGR) ที่ 8.5% ต่อปี ขณะที่รายได้จากการนักท่องเที่ยวต่างชาติก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนเกือบ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11.5% ของ GDP ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้น (CAGR) ที่สูงถึง 11% ต่อปี

ทั้งนี้ หากนับรวมนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2562 จะสูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของ GDP อย่างไรก็ตามรายได้จากไทยเที่ยวไทยคิดเป็นเพียง 30% ของรายได้รวมเท่านั้น ดังนั้นหากต้องการให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาเติบโตอีกครั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องกลับมา

คำถามต่อมา คือ แล้วเมื่อไหร่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมา ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงอยู่ที่ 1.5 แสนคนในปีนี้ และเพียง 6 ล้านคนในปีหน้า ซึ่งคิดเป็นเพียง 15% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนโควิด-19 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่กลับมาง่าย เพราะนโยบายของรัฐบาลจีนล่าสุด ยังส่งสัญญาณว่าจะยังปิดประเทศต่อเนื่อง และอาจจะเปิดประเทศได้เร็วสุด คือ ครึ่งหลังปี 2565 ตลอดจนมีนโยบายที่ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศในระยะยาวด้วย ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่ เชื่อมั่นว่า ผลประกอบการจะกลับไปในช่วงก่อนโควิด-19 ได้ในปี 2567

ในมุมมองของเรานั้น หลังจากสถานการณ์การระบาดภายในประเทศระลอกล่าสุดคลี่คลาย ภาคท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวในจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สามารถขับรถไปได้ก่อน โดยเราคาดว่า จะเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ และหากการฉัดวัคซีนภายในประเทศเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ ปีหน้าเราจะเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยหลั่งไหลเข้ามา และเริ่มเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังปี 2565 หลังจากจีนเปิดประเทศนั่นเอง

ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมานั้น เราเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะภาคธุรกิจโรงแรมที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ เริ่มจากผู้ประกอบการบางรายที่ไปต่อไม่ไหว ก็จำต้องปิดกิจการไปไม่ว่าจะเพียงชั่วคราวหรือแบบถาวรไปเลย  คนที่ยังไหวหรือมีสายป่านยาวก็ต้องทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมกันไป เพื่ออย่างน้อยให้ได้มีกระแสเงินสดเข้ามาบ้าง และใช้จังหวะนี้ปรับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ลงทุนในเทคโนโลยีและ Big Data เพื่อหากลยุทธ์สร้างความแตกต่างและมอบประสบการณ์ที่ประทับใจให้แก่ลูกค้า เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น การท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ และได้รับประสบการณ์จากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่เป็นเรื่องเฉพาะหาไม่ได้ทั่วไป

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังต้องการบริการและความสะอาดที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น เพราะความกังวลด้านโรคระบาดยังคงอยู่ต่อไป ดังนั้น หลังจากสถานการณ์ด้านโรคระบาดคลี่คลายลง เรามีมุมมองว่าผู้ประกอบการรายเล็กจะยิ่งประกอบธุรกิจได้ยากขึ้น เพราะรายใหญ่เข้ากระชับพื้นที่ สร้างจุดแข็งโดยใช้ Big Data และเทคโนโลยีในมือ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้ามอุตสาหกรรม (Cross Industry Collaboration) เสริมด้วยมาตรฐานด้านบริการและความสะอาด ขณะที่ราคาก็ถูกปรับลงมาให้แข่งขันได้ เพราะได้ลดต้นทุนลงแล้ว

ไม่ใช่ว่าโลกของเราจะไม่เคยเกิดโรคระบาดมาก่อน และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาคการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านโรคระบาดเหล่านี้ แม้ว่าโรคระบาดครั้งนี้จะรุนแรงมากกว่าครั้งไหนๆ ก็ตาม แต่เราก็จะผ่านมันไปได้เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา เราจึงยังเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยว่า ในระยะยาวจะยังเติบโตต่อไปได้ เพราะจุดแข็งที่สำคัญคือ วัฒนธรรมและธรรมชาติที่หลากหลาย ตลอดจนความสะดวกสบายในการเดินทางและเข้าพัก อาหารไทยที่อร่อยติดอันดับโลก

ขณะที่ ราคาที่ต้องจ่ายก็คุ้มค่ากับประสบการณ์ที่ได้รับ ในมุมของภาคเอกชนเองก็ต้องถือว่าเข้มแข็ง พร้อมปรับตัว มุ่งสร้างความแตกต่างและประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลเป็นอย่างดี เพราะเป็นภาคบริการที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้น ถึงแม้ฟ้าฝนอาจจะยังไม่เป็นใจในช่วงนี้ แต่หลังจากฝนหยุดฟ้าย่อมสดใสเสมอ และหวังว่าจะให้เห็นสายรุ้งเป็นขวัญและกำลังใจให้เราเดินหน้าต่อไป