สถานการณ์ผันผวนสะเทือนพอร์ต Rebalance ช่วยได้

สถานการณ์ผันผวนสะเทือนพอร์ต Rebalance ช่วยได้

สรุปความสัมภาษณ์

เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ปีนี้เป็นปีที่ยากสำหรับการลงทุนจริงๆ เนื่องจากเต็มไปด้วยความผันผวนเนื่องจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีต่อเนื่อง รวมทั้งความไม่แน่นอนของปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ ที่จะทำให้หลายๆ ประเทศมีการจัดการและการบริหารเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่ใครจะคาดคิดว่าจะมีความผันผวนจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อน อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งดูจะมีผลกระทบมาก

แม้เราคาดหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ลุกลามไปมากกว่านี้ แต่ว่าใครจะรู้ได้ โดยเชื่อว่าแม้การเจรจาที่เกิดขึ้น หากประสบความสำเร็จ สงครามก็จะยุติลง แต่สิ่งที่จะทิ้งไว้คือ ทำให้เกิดความตื่นตัว ความไม่แน่นอน ความไม่ไว้ใจกันทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้รูปแบบเศรษฐกิจ การเจรจาการค้าขายระหว่างกันมีความยากมากขึ้น

ความผันผวนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และในแง่การลงทุน เราพยายามบริหารจัดการกระจายการลงทุน กระจายความเสี่ยง แต่เวลาเกิดเหตุการณ์ค่อนข้างรุนแรง และทำให้มีความไม่แน่นอน คาดเดาได้ยาก อย่างกรณีสงคราม ก็มักมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่าทำอย่างไรดี จะขายหุ้นออกไปก่อนดีหรือไม่ หรือจะลดพอร์ตมาถือเงินสด หรือจะย้ายไปลงทุนทองคำดี

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรามักจะนึกได้หลังเกิดผลพวงความเสียหายกับราคาทรัพย์สินที่ลงทุนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือหลักทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงสูง หรือเมื่อมีความสนใจที่จะย้ายไปลงทุนในน้ำมันหรือทองคำ ก็จะเป็นจังหวะที่ราคาสินทรัพย์เหล่านี้พุ่งไปแล้ว

สิ่งเหล่านี้คือความยากของการลงทุน คือความเสี่ยงที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เราไม่รู้ระดับความเสียหาย รวมทั้งความไม่แน่นอนเวลาเกิดสถานการณ์ในช่วงต้นๆ ทำให้การคาดเดาทำได้ยาก และการตัดสินใจของนักลงทุนจะมีทิศทางที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภาพรวมความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และต้นทุนที่นักลงทุนแต่ละคนถืออยู่

มีคำถามเข้ามาบ่อยครั้งว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ มีคำแนะนำอะไร ทำอะไรกับพอร์ตลงทุนได้บ้าง โดยเรื่องนี้ทำให้นึกย้อนไปถึงหลักการขั้นพื้นฐานคือ การลงทุนด้วยระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเรา ซึ่งจะมีสิ่งหนึ่งที่ต่อเนื่องกัน นั่นคือสัดส่วนการลงทุน หมายถึง สัดส่วนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำที่เหมาะกับการลงทุนของเรา เช่น ลงทุนในตราสารหนี้และหุ้น สัดส่วนเท่าๆ กันอย่างละ 50%

สมมติง่ายๆ จากสินทรัพย์อย่างหุ้นหรือตราสารหนี้ โดยหุ้นจะเป็นการลงทุนผ่านหุ้นโดยตรง หรือกองทุนรวมหุ้นก็ได้ ส่วนตราสารหนี้ก็จะเป็นเงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นปกติวิสัยแม้ไม่เกิดความเสี่ยงหรือความผันผวน ก็คือ เวลานักลงทุน เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้แล้วในสัดส่วนเท่าไหร่ สัดส่วนนี้ก็คือสัดส่วนที่เหมาะสมกับเรา

เมื่อผ่านไปนานๆ ในภาวะปกติที่ราคาหุ้นค่อยๆ ขึ้นมา ส่วนตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนไม่เท่ากับหุ้นอยู่แล้ว เมื่อดูสัดส่วนการลงทุนเป็น % สัดส่วนก็จะเริ่มเบ้ไป หมายความว่า หุ้นที่เติบโตขึ้นมาจะทำให้มูลค่าพอร์ตลงทุนของหุ้นโดยรวม มีมูลค่ามากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ อาจจะทำให้สัดส่วนหุ้นกลายเป็น 55% หรือ 60% ถ้าหุ้นปรับขึ้นไปแรง

คำแนะนำของเราก็คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของพอร์ตจะมากกว่าความเสี่ยงที่คุณคิดไว้ว่าจะรับได้ (เดิมคิดว่ารับได้ที่ หุ้น 50% ตราสารหนี้ 50%) ดังนั้นก็แนะนำให้มีการเขย่าพอร์ต โดยการขายหุ้นบางส่วน หรือกองทุนหุ้นบางส่วน แล้วไปอยู่ในตราสารหนี้หรือเงินฝาก เพื่อให้สัดส่วนกลายป็น 50% เท่าๆ กัน ตามสัดส่วนที่เรามองว่าเหมาะสมและยอมรับได้

ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติและมีความผันผวนรุนแรง เราสามารถนำหลักการ rebalance มาใช้ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการนี้จะตัดปัญหาเรื่องความกังวลในการจับจังหวะลงทุน หรือ market timing ออกไป

ส่วนเรื่องสภาวะสถานการณ์ความไม่แน่นอน ถ้าระยะยาวเรามองว่า สัดส่วนการลงทุนที่วางไว้ยังใช้ได้อยู่ เราคิดว่ายังไปได้ โดยพยายามตัดใจประเด็นระยะสั้นออกไป ในภาวะที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรงๆ จะทำให้สัดส่วนหุ้นในพอร์ตหายไป สมมติพอร์ตมีความเสี่ยงสูงมากจากหุ้น พอร์ตลงทุนเดิมมีหุ้นอยู่ 50% มูลค่าหุ้นที่ลดลงไปก็อาจจะทำให้สัดส่วนหุ้นที่อยู่ในพอร์ตกลายเป็น 40% สิ่งที่เราทำคือ เมื่อได้จังหวะเวลา ต้องเขย่าให้สัดส่วนกลับเป็น 50% ในหุ้น 50% ในตราสารหนี้เหมือนเดิม แปลว่า เราจะนำเงินฝากหรือตราสารหนี้บางส่วนมาซื้อหุ้นแทน

มีคนถามว่า แบบนี้จะเสี่ยงเกินไปหรือไม่ จังหวะนี้ควรซื้อหรือไม่ เราไม่สามารถตอบได้ แต่วิธีการที่กล่าวมาเป็นวินัยการลงทุน ให้เราบริหารความเสี่ยง จัดการเงินทุนของเรา ถ้าทำตามคำแนะนำข้างต้น แปลว่า เราอาศัยโยกเงินส่วนหนึ่งของเรามาซื้อหุ้นในจังหวะที่ราคาหุ้นตก มีราคาต่ำๆ นั่นเอง ซึ่งก็ทำให้พอร์ตลงทุนกลับไปมีหุ้นเป็น 50% เท่าเดิม

เมื่อถามว่าเราควรจะย้ายเงินทั้งหมดในตราสารหนี้และเงินฝากไปลงทุนในหุ้นดีหรือไม่ BBLAM มองว่า เราก็ไม่ควรเสี่ยงเช่นนั้น เพราะเราไม่มีทางแน่ใจเลยว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงไปอีกหรือไม่ สงครามจะจบรึเปล่า

วิธีการเช่นนี้เป็นการสร้างวินัยให้ตัวเอง จำกัดเม็ดเงินลงทุนของตัวเองให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่เทหรือย้ายเงินฝากทั้งหมดเพื่อไปเก็งกำไรราคาหุ้นว่า ในช่วงนี้ราคาลงไปต่ำแล้ว ต่อไปจะเด้งขึ้นมา เพราะมีความเสี่ยงมากเกินไป เนื่องจากหากสถานการณ์ไม่แน่นอน และราคาหุ้นตกลงไปอีก ความเสียหายก็จะใหญ่มากขึ้น

นี่คือวิธีที่อยู่ในหลักการพื้นฐานของการ rebalance และการจัดพอร์ตให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ขณะเดียวกันคุณก็สามารถไปซื้อหุ้นในจังหวะที่ราคาต่ำได้ ในมุมตรงข้าม สมมติว่าตลาดร้อนแรงมากๆ ราคาปรับขึ้นไปสูงมากๆ สิ่งที่ควรทำคือ สมมติว่าหุ้นขึ้นแรงจนทำให้สัดส่วนของหุ้นปรับขึ้นไปเป็น 70% สัดส่วนตราสารหนี้ลดลงมาเหลือ 30% ก็ต้องย้ายเงินลงทุนจากหุ้นออกมาประมาณ 20% เพื่อนำไปเพิ่มในส่วนตราสารหนี้ ก็คือการขายทำกำไรส่วนเกินนั่นเอง โดยพิจารณาจากพอร์ตโดยรวม

เพราะฉะนั้นควรทำการถ่ายเทเงินลงทุนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ โดยใช้มูลค่ารวมของพอร์ตเป็นตัวตั้ง เขียนมาก่อนว่าในพอร์ตมีกองทุนอะไรบ้าง เช่น อาจจะมี กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนรวมทั่วไป หรือซื้อหุ้นทั่วไปเอง รวมทั้งมีพันธบัตร หุ้นกู้ และเงินฝาก แบบนี้เราสามารถ rebalance และจัดพอร์ตลงทุนที่เรายอมรับได้กับความเสี่ยงนั้น

มีเคล็ดลับการลงทุนเล็กน้อยมาแนะนำกัน คือ การลงทุนในตราสารหนี้จะต้องมีตราสารหนี้บางส่วนที่ลงทุนไว้แบบที่สามารถยักย้ายถ่ายเทหรือว่าโอนได้ง่ายๆ เช่น เงินฝาก ไม่ได้ไปอยู่กับหุ้นกู้ หรือพันธบัตรที่มีอายุหรือล็อคระยะเวลาการลงทุนไว้นานๆ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจะไม่สามารถย้ายจากการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อมายังหุ้นได้

ขณะเดียวกันหุ้น หากเป็นการลงทุนใน SSF และ LTF อาจทำได้ยากเรื่องการย้ายเงินลงทุน เพื่อปรับสัดส่วนให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่หากเป็นกองทุน RMF ก็ยังสามารถย้ายจากกองทุน RMF ที่ลงทุนในหุ้น เป็นกองทุน RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ได้ หรือหากมีกองทุนรวมทั่วไปที่ลงทุนในหุ้นอยู่ ก็สามารถขายออกมาได้ เพราะเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่อง เงินลงทุนไม่ต้องถูกล็อคระยะยาว

สรุปแล้ว การดูแลสภาพคล่องเพื่อยักย้ายถ่ายเทเงินลงทุนเพื่อ rebalance ก็ถือเป็นประเด็นเพิ่มเติมที่ต้องคำนึงถึงในจังหวะที่เราต้องการพอร์ตในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งแก้ปัญหาความกังวล ความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจว่าเวลาหุ้นตก หรือในสถานการณ์วิกฤติสงครามควรจะทำอย่างไร