ใครกำหนดค่าเงินบาท (ตอนที่ 1)

ใครกำหนดค่าเงินบาท (ตอนที่ 1)

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์

BF Knowledge Center

ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าฃึ้นหรืออ่อนค่าลงมาก มักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวโทษว่านักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน และเรียกร้องให้ธนาคารเห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซง ในความเป็นจริงผู้ที่มีอิทธิพลต่อทิศทางค่าเงินไม่ได้มีเพียงนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น ยังมีผู้คนหลายกลุ่มที่มีบทบาทต่อค่าเงิน ดังนี้

1. ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้า เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อค่าเงินค่อนข้างสูง เพราะเงินตราต่างประเทศที่หมุนเวียนผ่านมือมีปริมาณสูง ผู้ส่งออกทำให้มีเงินต่างประเทศเข้ามา ในขณะที่ผู้นำเข้าจ่ายเงินตราต่างประเทศออกไป หากยอดส่งออกสูงกว่ายอดนำเข้า เรียกว่าภาวะเกินดุลการค้า จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ในทางกลับกัน หากการนำเข้าสูงกว่าหรือขาดดุลการค้า เงินบาทก็จะอ่อนค่า การส่งออกจะดีหรือแย่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า คุณภาพ และราคาของสินค้าส่งออก ส่วนการนำเข้ามีปัจยยที่สำคัญคือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจะขึ้นอยู่กับรายได้และรสนิยมของประชาขน ส่วนสินค้าทุน (วัตถุดิบ อุปกรณ์ ชิ้นส่วน เครื่องมือ เครื่องจักร) ขึ้นอยู่กับภาวะการลงทุน ประเทศไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานและการผลิตของโลก สินค้าส่งออกจึงมีส่วนประกอบของชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่นำเข้าในสัดส่วนสูง การส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อเนื่องถึงการนำเข้าสินค้าทุนมากขึ้น

2. นักท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นจุดหมายท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ นักท่องเที่ยวต่างฃาติที่หลั่งไหลเข้ามาเที่ยว ทำให้มีรายได้เงินตราต่างประเทศ ในทางกลับกัน หากคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศจึงสูญเสียเงินตราต่างประเทศ แต่จำนวนคนไทยและปริมาณเงินที่ใช้ท่องเที่ยวต่างประเทศยังต่ำกว่ารายได้  จึงมีรายได้สุทธิจากการท่องเที่ยวเป็นบวกหรือเกินดุลติดต่อกันหลายปี ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า  ความนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีปัจจัยสนับสนุนคือ รายได้หรือเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้ต่อหัวสูง จึงนิยมท่องเที่ยวทั่วโลกมานานแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน ที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อสูงพอที่จะใช้ท่องเที่ยวต่างประเทศ และด้วยจำนวนประชากรที่มาก จึงเห็นกองทัพนักท่องเที่ยวจีนออกตะลุยไปทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งประเทศไทย

นอกจากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของภาคบริการแล้ว ยังมีค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่ารับเหมาก่อสร้างและบริการอื่นๆ  ซึ่งรวมกันเป็นรายได้สุทธิจากภาคบริการหรือดุลบริการต่างประเทศ ค่าขนส่งระหว่างประเทศเป็นบริการที่ประเทศไทยขาดดุลมาตลอด เนื่องจากสินค้าส่งออกและนำเข้าส่วนใหญ่พึ่งพาสายการเดินเรือต่างประเทศ แต่เมื่อรวมกับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเกินดุลสูงกว่า ดุลบริการรวมยังคงเป็นบวก