ECB ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นตั้งแต่เดือนก.ค. พร้อมปรับมุมมองเงินเฟ้อในระยะกลางสูงเกินเป้าหมาย 2%

ECB ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นตั้งแต่เดือนก.ค. พร้อมปรับมุมมองเงินเฟ้อในระยะกลางสูงเกินเป้าหมาย 2%

Economic Research

ในการประชุมเดือน มิ.ย. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์ (Asset Purchase Program: APP) หรือ QE วันที่ 1 ก.ค. นี้ และ ระบุว่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 25bps ในการประชุมเดือนก.ค. ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ECB กล่าวว่าจะยังคงทำการ Reinvestment ในพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุที่ได้ซื้อผ่านมาตรการ APP ยาวนานตราบเท่าที่จำเป็น และสำหรับพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านโครงการพิเศษช่วง COVID-19 อย่าง PEPP ที่ยุติไปแล้วเมื่อเดือน มี.ค. ก็จะยังคงทำการ Reinvestment ไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2024

ด้านประมาณการเศรษฐกิจ ECB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นอย่างมากจากเมื่อเดือนมี.ค. โดยคาดเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 6.8% ในปีนี้ จากเดิม 5.1% และจะชะลอตัวลงเป็น 3.5% ในปี 2023 และเป็น 2.1% ในปี 2024 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ 2% ในส่วนของ GDP ได้ปรับประมาณการปี 2022-2024 ลดลงเช่นกัน โดยคาด GDP ปีนี้จะขยายตัว 2.8% จากเดิม 3.7%

ทั้งนี้ ท่าทีของ ECB ที่มองว่ามีความ Hawkish มากขึ้น คือการระบุว่าอาจต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตราที่มากกว่า 25bps ในการประชุมเดือนก.ย. หากเงินเฟ้อในระยะกลาง (ปี 2024) สูงกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ทิศทางนโยบายหลังจากการประชุมเดือน ก.ย. ECB ระบุว่าจะทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นต่ออย่างค่อยเป็นค่อยไป

Implications for markets

ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 3 สัปดาห์ นำโดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเทคโนโลยี หลัง ECB ประกาศแผนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับประเมินว่าเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูง ขณะที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงกว่าคาด โดยตลาดหุ้นยุโรปต้องเผชิญแรงกดดันนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาภายหลัง ECB มีท่าที Normalization เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสงครามในยูเครนที่สร้างความกังวลแก่นักลงทุนต่อการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจยุโรปอย่างมาก

สำหรับค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ หลังการประชุม ECB และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีก โดยนักลงทุนหันมาเก็งกำไรยูโรฝั่งอ่อนค่ามากขึ้น เนื่องจากแม้ว่า ECB จะมีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยขึ้น และส่งผลให้ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระหว่างสหรัฐฯ และยูโรโซนลดลง แต่ด้วยเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังเผชิญกับความเสี่ยง Recession บวกกับเงินเฟ้อสูง และการฟื้นตัวที่แตกต่างระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้ปัจจุบันตลาดน่าจะ Price in การขึ้นดอกไปมากแล้ว และความเสี่ยงที่อาจทำให้ขึ้นดอกไม่ได้อย่างที่คาด น่าจะทำให้ยูโรกลับมาอ่อนค่าได้เมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ

ด้านราคาทองคำ การประกาศยุติ QE และขึ้นดอกของ ECB ส่งผลให้ราคาทองคำปรับลดลง แต่ด้วยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้นักลงทุนยังมีความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำอยู่ ส่งผลให้ราคาเคลื่อนไหวในกรอบแคบในระยะนี้