กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND)

กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND)

Highlight

  • “ตลาดหุ้นไทย เศรษฐกิจไทยอยู่ในโหมดของการฟื้นตัว หนุนโดยการบริโภคภาครัฐและเอกชนจากการผ่อนคลายมาตรการ รวมถึงภาคการส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวก่อนและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง”
  • “นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 2 หมื่นล้านบาท เป็นอีกปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวได้”

 

ตลาดหุ้นโลก ปรับตัวผันผวน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งเดือนแรกของพฤษภาคม ตลาดแตะระดับ Bear Market หรือลดลงจากสูงสุดช่วงต้นปีที่ 20% ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ประเด็นที่เป็นปัจจัยกดดันการลงทุนยังคงมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อในหลายประเทศที่อยู่ในระดับสูงในรอบหลายปี แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และโมเมนตัมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ตลาดก็เริ่มรับรู้ปัจจัยด้านนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นไปมากแล้ว รวมถึงสัญญาณจากภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มชะลออัตราการปรับขึ้นลง ส่งผลให้ตลาดโดยรวมปิดทรงตัวได้ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นสูงในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยกดดันระดับ Valuation ของตลาดหุ้น ให้อยู่ในระดับ Multiple ที่ต่ำลง ในระยะข้างหน้า ผลกระทบของเงินเฟ้อต่อกำไรบริษัทจดทะเบียน ท่าทีของนโยบายการเงินจากธนาคารกลาง และประเด็นการถดถอยของเศรษฐกิจ ยังคงปัจจัยสาคัญที่จะส่งผลต่อการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง

ในด้านเศรษฐกิจนั้น สงครามยูเครน รัสเซียที่ยืดเยื้อ การคว่ำบาตรทางการค้า และการ Lockdown เศรษฐกิจในจีน เป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมปัญหาอุปทาน และเพิ่มแรงกดดันต่อระดับเงินเฟ้อที่มีในหลายประเทศ ขณะที่ราคาน้ำมันที่ยืนระดับสูงและราคาอาหารที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ก็เป็นปัจจัยลดทอนกำลังซื้อและการบริโภค โดยเศรษฐกิจสหรัฐนั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ขึ้นมาร้อนแรงจากการจ้างงานที่แข็งแกร่ง หนุนภาคการบริโภคในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มถูกชะลอจากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งได้รับผลกระทบด้านพลังงานจากรัสเซีย ยังคงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ ด้านเศรษฐกิจจีน การใช้มาตรการ Zero-COVID ในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบต่อภาคการบริการและการผลิต ซึ่งล่าสุด จำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่ต่อวันในจีนได้ลดลงแล้ว แต่สถานการณ์ในจีนจึงยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยถ้าหากควบคุมได้ดีต่อเนื่อง เศรษฐกิจยังอาจได้แรงหนุนทั้งจากนโยบายการเงินและการคลัง ต่างจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซน โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกจะมีโมเมนตัมที่ชะลอลงในระยะข้างหน้า ทำให้ประเด็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มเป็นความเสี่ยงมากขึ้น แต่หากปัจจัยกดดันต่างๆ ข้างต้น สามารถลดระดับลงมาได้ รวมถึงระดับอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอความร้อนแรงลง ก็อาจช่วยลดความกดดันต่อนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ และเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นไทย เศรษฐกิจไทยอยู่ในโหมดของการฟื้นตัว หนุนโดยการบริโภคภาครัฐและเอกชนจากการผ่อนคลายมาตรการ รวมถึงภาคการส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวก่อนและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี GDP ปี 2565 เริ่มถูกปรับคาดการณ์ลดลงเล็กน้อย จากปัจจัยมหภาค ทั้งโมเมนตัมของเศรษฐกิจโลก และระดับราคาสินค้าบริการที่สูงขึ้นฉุดกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจากฐานต่ำจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ไม่มากก็น้อยในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 2 หมื่นล้านบาท เป็นอีกปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวได้ดีกว่าและปิดทรงตัวได้ 0.3% YTD เทียบกับตลาดหุ้นโลกที่ปรับลดลง -13.5% YTD (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565)

กลยุทธ์การลงทุน ยังคง Selective ในหุ้นที่ผลประกอบการมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นตามการเปิดประเทศ ซึ่งระดับ Valuation นั้นนับว่าไม่ได้ถูก แต่ก็ไม่ถึงกับแพงมาก และยังระมัดระวังต่อบริษัทที่มีความเสี่ยงต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยความเปลี่ยนแปลงเชิงมหภาค ซึ่งอาจจะทำให้หุ้นของบริษัทกลุ่มนี้ที่ปรับตัวลงในช่วงก่อนหน้า กลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต

ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนจนถึงปัจจุบัน กองทุน BKIND ได้สนับสนุนโครงการ เป็นจำนวน 57 โครงการ จำนวนเงินรวมประมาณ 45 ล้านบาท ข้อมูลโครงการที่ BKIND สนับสนุน แบ่งเป็นด้านต่างๆ มีรายละเอียด ดังนี้

• ด้านเกษตร เมือง และ สิ่งแวดล้อม 10 โครงการ
– โครงการคนกล้าคืนถิ่น
– โครงการกองทุนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์แก้จน
– โครงการนาแลกป่า
– โครงการนาแลกป่า ระยะที่สอง
– โครงการพัฒนาประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์
– การส่งเสริมเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลโดยชุมชนประมงพื้นบ้าน
– โครงการเกษตรอินทรีย์
– โครงการสังคมอยู่ดีกับพลังตาพลเมือง
– โครงการขนส่งมวลชนที่ทุกคนออกแบบได้
– โครงการสายไฟใจดี

• สุขภาพ 9 โครงการ
– ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ (เพื่อ COVID-19)
– โครงการ Operation Smile
– โครงการกายอุปกรณ์
– โครงการหมอน้ำเงินขาวช่วยชาวบ้าน
– โครงการจิตอาสากิจกรรมบำบัด
– โครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน
– โครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน (ระยะที่สอง)
– โครงการพัฒนาต่อยอดระบบยากับคุณเพื่อประชาชน
– โครงการฝึกอบรมผู้ช่วยแพทย์แผนไทย

• สามชายแดนใต้ สังคม และ วัฒนธรรม 8 โครงการ
– โครงการนักข่าวชายแดนใต้
– โครงการทุนหมุนเวียนเพื่อกลุ่มวิสาหกิจของสตรี 3 จังหวัดภาคใต้
– โครงการ Peace Please
– โครงการ Pease Please ปี 2
– โครงการพัฒนาแผนการจัดการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา
– โครงการ Hand Up
– Chatbot ช่วยเหลือผู้หญิงจากความรุนแรง
– พัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมสาหรับกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน

• ต่อต้านคอร์รัปชั่น 4 โครงการ
– โครงการโตไปไม่โกง
– โครงการสุจริตไทย
– โครงการผลิตข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น
– Crowdsourcing Investigative Journalism

• ศึกษาและเรียนรู้ 10 โครงการ
– สื่อดิจิทัลเสริมการเรียนวิทย์ คณิต
– โครงการขยายโรงเรียนจิตศึกษาต้นแบบ
– โครงการพัฒนารูปแบบการขยายผลโรงเรียนจินตศึกษาต้นแบบ
– โครงการโรงเรียนเยาววิทย์
– โครงการนำหนังสือสู่มือน้อง
– โครงการพัฒนาเกมดิจิทัลพื่อการเรียนรู้เพศศึกษาสำหรับเยาวชน
– โครงการพัฒนาหลักสูตรและระบบการแนะแนวอาชีพสำหรับนักเรียนที่มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์เพื่อค้นพบตัวเอง
– SaturnLight – Scale up Saturday School’s impact
– โครงการเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น
– การพัฒนาอาชีพเยาวชนด้อยโอกาสเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ

• ผู้สูงอายุ เด็กพิเศษ คนพิการ 5 โครงการ
– โครงการ ForOldy
– โครงการสร้างเครือข่ายสนับสนุนโรงเรียนจัดการเรียนร่วม
– โครงการ The Guidelight
– โครงการพัฒนาศักยภาพและรูปแบบโหนดการจ้างงานคนพิการในระดับพื้นที่
– โครงการ Buddy Homecare

• เด็กและเยาวชน 11 โครงการ
– โครงการป้องกัน HIV ที่ส่งผลกระทบต่อชายแดนไทย ลาว ไทย กัมพูชา
– โครงการบ้านพักเยาวชนสตรี
– โครงการส่งเสริมสุขภาวะและพัฒนาทักษะชีวิตแรงงานเด็กต่างชาติและเด็กกลุ่มเสี่ยง
– โครงการบ้านต้นรักษ์ เรียนรู้
– โครงการกล้าทำดี
– โครงการฐานข้อมูลอาชีพออนไลน์
– โครงการความมั่นคงทางอาหารเพื่อเด็กน้อยบนดอยสูง
– โครงการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านให้ฟัง
– โครงการ ละอ่อนน้อยหายใจม่วน
– โครงการพัฒนา Platform ฝึกทักษะพ่อแม่ในการสื่อสารกับลูกวัยเด็กและวัยรุ่น
– FOOD FOR GOOD

Disclaimer: เอกสารนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ และบริษัทฯ อาจเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เอกสารนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มิได้มีวัตถุประสงค์ชักชวน ชี้นำ ให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจลงทุนทางการเงิน หรือการตัดสินใจในทางธุรกิจแต่อย่างใด ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังและวิจารณญาณจากการใช้ข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดของเอกสารฉบับนี้ ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต