Fund Comment มิถุนายน 2565: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มิถุนายน 2565: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือน มิ.ย. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง 42 bps จากสิ้นเดือนก่อน มาอยู่ที่ 1.09% หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 มิ.ย. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดย 3 เสียงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนที่คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งรายงานการประชุมยังระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ทำให้ตลาดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของ กนง. เร็วขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไม่เกิน 17 bps ยกเว้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ปรับลดลง 6 bps มาอยู่ที่ 2.90% ณ สิ้นเดือน มิ.ย. เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ปรับลดลงจากระดับสูงสุดของปีที่ 3.49% ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 3.13% จากความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่เพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 75 bps ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ค. อยู่ที่ 8.6% สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี) สำหรับนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย 1.38 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น 4.5 พันล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 9.3 พันล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดอายุ 2.77 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยสุทธิ 4.15 หมื่นล้านบาท

ด้านผลการประชุมธนาคารกลางหลักของโลก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 9 มิ.ย. ได้แก่ Deposit Facility Rate ที่ -0.50% Main Refinancing Rate ที่ 0% และ Marginal Lending Rate ที่ 0.25% อย่างไรก็ดี ECB ประกาศแผนจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 20-21 ก.ค. เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ค. อยู่ที่ 8.1% สูงกว่าเป้าหมายที่ 2%) นอกจากนี้ ECB มีมติให้ยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบปกติหรือ  APP ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติ 10-1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยนาย Jerome Powell ประธาน Fed ระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยในอัตรา 75 bps อีกครั้งหรือ 50 bps มีความเป็นไปได้ในการประชุมครั้งถัดไป ขณะที่แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ย (Dot plot) บ่งชี้ว่า Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 3.25-3.50% ณ สิ้นปีนี้ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีมติคงนโยบายการเงินตามเดิมในการประชุมวันที่ 16-17 มิ.ย. ได้แก่ คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ใกล้ 0% รวมทั้งคงมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยภายหลังการประชุม นาย Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการ BoJ ยังเน้นย้ำว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังคงจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงไม่ฟื้นตัวเข้าสู่ระดับก่อน Covid และไม่มีแผนที่จะขยายกรอบของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี

ด้านตัวเลขเงินเฟ้อของไทย ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 7.10% ปัจจัยหลักยังคงเป็นผลจากราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าที่ภาครัฐมีการขยายเพดานการตรึงราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลของระดับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 2.51% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 2.28% ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 5.61% และ 1.85% ตามลำดับ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลัง กนง. ส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น โดย BBLAM คาด กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 25 bps ภายในปีนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การประชุม FOMC ในวันที่ 26-27 ก.ค. ตลอดจนติดตามการส่งสัญญาณของนาย Jerome Powell ประธาน Fed เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของไทย และการประชุมของธนาคารกลางอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม BoJ ในวันที่ 20-21 ก.ค. และการประชุม ECB ในวันที่ 21 ก.ค.