จีนเตรียมตั้งกองทุนอุ้มบริษัทอสังหาฯ มูลค่าเงินกองทุนสูงถึง 300,000 ล้านหยวน

จีนเตรียมตั้งกองทุนอุ้มบริษัทอสังหาฯ มูลค่าเงินกองทุนสูงถึง 300,000 ล้านหยวน

จีนมีแผนตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่อาจมีมูลค่าถึง 300,000 ล้านหยวน เพื่ออุดหนุนบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวน 12 แห่ง ซึ่งรวมถึง ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป โดยกองทุนจะได้รับเงินสนับสนุนจาก ไชน่า  คอนสตรัคชั่น แบงก์ 50,000 ล้านหยวน และจากธนาคารกลางจีนอีก 30,000 ล้านหยวน  นอกจากนี้ยังพิจารณาจัดทำนโยบายแห่งชาติสำหรับการออกพันธบัตรพิเศษเพื่อการพัฒนาสลัมในเมืองด้วย  หุ้นอสังหาฯ จีนพุ่งแรงรับข่าวนี้

REDD บริษัทข้อมูลทางการเงิน รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยอ้างแหล่งข่าวว่า จีนมีแผนตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่อาจมีมูลค่าถึง 300,000 ล้านหยวน (44,390 ล้านดอลลาร์) หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท เพื่ออุดหนุนบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวน 12 แห่ง ซึ่งรวมถึง ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป

กองทุนนี้จะได้รับเงินจากไชน่า  คอนสตรัคชั่น แบงก์ 50,000 ล้านหยวน และจากธนาคารกลางจีน โดยผ่านธุรกรรม relending facility อีก 30,000 ล้านหยวน  และอาจเพิ่มขนาดกองทุนเป็นระหว่าง 200,000- 300,000 ล้านหยวนได้

หน่วยงานที่กำกับดูแลและรัฐบาลท้องถิ่นจะเลือกบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนได้ โดยเงินที่ได้สามารถนำไปซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือไปสนับสนุนผู้ซื้อที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่จะเข้าถือสิทธิ์ในโครงการต่างๆ ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลปักกิ่งยังกำลังพิจารณาจัดทำนโยบายแห่งชาติสำหรับการออกพันธบัตรพิเศษเพื่อการพัฒนาสลัมในเมืองด้วย

หากรายงานนี้ได้รับการยืนยัน จะถือว่า เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่จะออกมาตรการโดยตรงมากสุดของรัฐบาลปักกิ่งเพื่อกอบกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ ยอดขายลดลง และมีการห้ามธนาคารปล่อยเงินกู้ในวงกว้างขึ้น

แพททริก หว่อง นักวิเคราะห์ บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนตลาดที่อยู่อาศัยและลดความเสี่ยงของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ผู้ซื้อบ้านไม่ยอมจ่ายเงินจำนอง

ข่าวนี้ทำให้หุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง โดย กวางโจ อาร์ แอนด์ เอฟ พร็อพเพอร์ตี้  ปรับตัวขึ้น  9.1%  คันทรี การ์เด้น โฮลดิ้งส์ ปรับตัวขึ้นมากกว่า 8% และ แอจิล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ปรับตัวขึ้น 7%

วิกฤตหนี้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ได้ลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าประมาณ 9,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วกว่าสองเท่า

ออกัส โต๋ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ของไอซีบีซี อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผิดนัดชำระหนี้มากสุด และการผิดนัดชำระหนี้อาจจะพุ่งสูงสุดในปีนี้ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนในช่วงปีที่เหลือหรือแม้แต่ในปีหน้า และอาจต้องใช้เวลานานสถานการณ์จึงจะดีขึ้น

เหม็ง ติง นักกลยุทธ์สินเชื่อเอเชียอาวุโส ของเอเอ็นแซด แบงก์ ไชน่า กล่าวว่า ในบรรดาบริษัทจีน 19 บริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ในต่างประเทศในปีนี้ เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ถึง 18 บริษัท  จากที่มีบริษัทผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมดในปี 2564 จำนวน 21 แห่ง

ติงคาดว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรในประเทศและต่างประเทศจะสูงขึ้นเล็กน้อยในปีนี้ โดยเพิ่มเป็น 2.2% หรือ 2.3% จากประมาณ 1.9%

การคาดการณ์เหล่านี้มีขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงสู่อัตราต่ำสุดในรอบสองปี ราคาบ้านใหม่ลดลงเป็นเดือนที่สิบติดต่อกัน และมีการเคลื่อนไหวเพื่อห้ามปล่อยกู้ให้กับบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่มีความผันผวนมากในตลาดการเงินทั่วโลกท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยและความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนสั่งธนาคารจัดเตรียมสินเชื่อให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับสิทธิ์ เพื่อช่วยให้สร้างบ้านให้เสร็จ โดยถือเป็นการปล่อยสภาพคล่องเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ธนาคารกลางจีนควบคุมเงินกู้เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จนส่งผลให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ซวนเซไปตามๆ กัน

จากข้อมูลของบลูมเบิร์ก บริษัทอสังหาริมทรัพย์มีพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงที่เหลือของปีนี้ 31,700 ล้านดอลลาร์  และบริษัทรับสร้างบ้านยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการเลื่อนชำระหนี้พันธบัตรในต่างประเทศที่มีมูลค่า 26,200 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้เกือบทั้งหมด

ที่มา: รอยเตอร์