Fund Comment ตุลาคม 2565: ภาพรวมตลาดหุ้น

Fund Comment ตุลาคม 2565: ภาพรวมตลาดหุ้น

ภาพรวมตลาดหุ้น

            ตลาดหุ้นโลกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ 6.4% ในเดือนตุลาคม หลังจากปรับตัวลดลงในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า หรือ ลดลงจากจุดสูงสุดช่วงต้นปีมาราว 27.0% โดยความเข้มงวดทางการเงินโลกที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนผ่าน Bond Yield สหรัฐฯ 10 ปี ที่ปรับขึ้นมาที่ระดับ 4.0% และ Real Yield ที่ปรับขึ้นมาเป็นบวกในเกือบทุกช่วงอายุนั้น เริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น ทั้งต่อภาคเศรษฐกิจจริงและสภาพคล่องในตลาดการเงิน ทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ถึงสัญญาณนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ครั้งสุดท้ายของปีของ Fed ในเดือน ธ.ค. ผ่าน FedWatch Tool ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย +75bps ลดลงจากมากกว่า 70% เหลือราว 40% กอปรกับ US 10Y Yield และค่าเงินสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงเล็กน้อย ลดความกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.0% และ Euro Stoxx 50 ปรับเพิ่มขึ้น 9.0% ในเดือนตุลาคม ในระยะข้างหน้า ทิศทางนโยบายการเงิน และโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับแนวโน้มการลงทุน

            ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นมีโมนตัมที่แผ่วตัวลงมากขึ้น สะท้อนผ่านอุปสงค์ที่ชะลอตัว ISM ภาคการผลิตและบริการเดือน ก.ย. ที่ชะลอตัวลง และกิจกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ จาก US Mortgage Rate 30 ปี ที่ปรับขึ้นเหนือระดับ 7% ขณะที่การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งคาดกการณ์ว่าจะเป็น Split Government อาจทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเป็นไปได้ยาก ซึ่งในทางตรงข้าม ก็อาจลดความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะยืนสูงนานกว่าคาดลงได้ ด้านเศรษฐกิจยูโรโซน ยังคงมีสัญญาณที่อ่อนแอกว่า ท่ามกลางดัชนี PMI ที่หดตัวต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession ในปลายปีนี้

ด้านเศรษฐกิจจีน หลังการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงกลางเดือนนั้น เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกจากการผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID มากขึ้น โดย GDP ไตรมาสสาม ขยายตัว 3.9% YoY เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนมาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศที่ผ่อนคลายลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทำให้ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะข้างหน้า โดยภาพรวม เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงในวงกว้างมากขึ้น อาจช่วยจำกัดการขึ้นของ Bond Yield ระยะยาวของสหรัฐฯ และนำมาซึ่งการเข้าสู่ช่วงปลายวัฏจักรของดอกเบี้ยขาขึ้นได้ ขณะที่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่อาจถูกปรับคาดการณ์ลง และ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับ Higher for Longer จะยังคงเป็นปัจจัยกดดัน Upside ของตลาดหุ้นในระยะข้างหน้า

            ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับตัวในทิศทางเดียวกัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.2% รวมตั้งแต่ต้นปี ปรับลดลงเพียง 2.9% เทียบกับตลาดหุ้นโลกที่ยังอยู่ระดับ Bear Market ที่ -22.0% โดยเศรษฐกิจไทยยังคงได้แรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในเดือนนี้ นักลงทุนต่างชาติ สลับมาเป็นซื้อสุทธิ ที่ 8.7 พันล้านบาท เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ และรวมตั้งแต่ต้นปียังคงเป็นยอดซื้อสุทธิสูงถึงเกือบราว 1.6 แสนล้านบาท ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มอยู่ในโหมดของการฟื้นตัว โดยสภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ปี 2566 เติบโต 3.7% เทียบกับเศรษฐกิจโลกที่ IMF คาดการณ์ล่าสุดที่ 2.7% ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งจากรายได้ที่ฟื้นตัวและอัตรากำไรที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัจจัยมหภาคที่ชะลอตัวลงน้อยกว่า โดยยังคงกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ผลประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้น ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการกลับมาของภาคการท่องเที่ยว