Automation โอกาส หรืออุปสรรค ของคนยุค Millennial

Automation โอกาส หรืออุปสรรค ของคนยุค Millennial

By…พูนสิน เพ่งสมบูรณ์ Fund Management

ถือเป็นข่าวที่ได้รับการพูดถึงพอสมควรในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการที่ยักษ์ใหญ่วงการ E-Commerce อย่าง Amazon ได้เปิดร้าน Amazon Go ซึ่งเป็นร้านค้าสะดวกซื้ออัจฉริยะภายใต้คอนเซปต์ “Just Walk Out” คือ ลูกค้าไม่ต้องต่อคิวเพื่อชำระเงินที่แคชเชียร์ เพียงแค่แสกน QR Code ผ่าน Amazon Go application เพื่อแสดงตัวตนก่อนเข้าร้าน จากนั้นภายในร้านจะมีระบบเซนเซอร์เพื่อตรวจจับและบันทึกรายการสินค้าที่เราหยิบออกมา หรือวางกลับเข้าไปที่ชั้น เมื่อช็อปปิ้งเสร็จลูกค้าก็สามารถเดินออกจากร้านได้เลย โดยที่ทางระบบจะทำการตัดบัญชีและออกใบเสร็จให้กับลูกค้าโดยอัตโนมัติ

ที่มา : https://www.cnet.com/pictures/photos-inside-amazon-go-store-no-cashiers-seattle/7/

การเปิดตัวดังกล่าวถึงแม้จะเป็นเพียงร้านสะดวกซื้อเล็กๆ แต่ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นแนวคิดต้นแบบของธุรกิจสมัยใหม่ที่สามารถจับต้องได้ และมีแนวโน้มความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงในอนาคต โดยร้านค้า Amazon Go ดังกล่าว สามารถลดการใช้พนักงานได้จำนวนมาก โดยมีเพียงพนักงานที่ทำหน้าที่เตรียมอาหาร (ready-to-eat) พนักงานบริหารสต็อกสินค้า และพนักงานบริการลูกค้า ในขณะที่บทบาทของ Automation (ซึ่งรวมถึง Robotics) จะมีความสำคัญมากขึ้น

การติดตั้งระบบเซนเซอร์ทั่วร้านอาจต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าร้านค้าทั่วไป แต่ในมุมของผู้ประกอบการแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลในหลายๆ ครั้ง มักจะพบกับปัญหาที่ต้องจัดการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดหาพนักงาน การปรับขึ้นค่าแรง หรือการลาหยุด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทั้งเรื่องความรวดเร็ว ความผิดพลาด หรือความปลอดภัยในการทำงาน  ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นความเสี่ยงที่สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานและชื่อเสียงของกิจการได้ ดังนั้น หากมีเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาจนสามารถนำมาใช้ได้จริง ภายใต้ต้นทุนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมเป็นการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ ในขณะที่หน้าที่ของพนักงานเองคือการควบคุม และปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของระบบ Automation ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ Amazon Go ถือเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่าง Automation ในโลกธุรกิจ โดยในปัจจุบันโรงงานผลิตสินค้าหลายแห่งก็เริ่มมีการใช้ระบบ Automation เพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

  • ห้อง Control room ที่ควบคุมกระบวนการผลิตทั้งหมดโดยใช้พนักงานเพียงไม่กี่คนต่อกะ
  • การบริหารคลังสินค้าโดยใช้ระบบ ASRS (Automated Storage and Retrieval System) และสายพานลำเลียงสินค้า ตั้งแต่ออกจากกระบวนการผลิต จนกระทั่งนำส่งเข้ารถบรรทุกและตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งสามารถทดแทนการใช้รถโฟล์คลิฟท์และพนักงานขับรถได้จำนวนมาก
  • การใช้ระบบ ซอร์ฟแวร์ภายในสำนักงาน เพื่อลดขั้นตอนเอกสารและระยะเวลาในการให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น

ผลของบทบาท Automation ที่เพิ่มขึ้น นอกจากตัวธุรกิจเองที่มีต้นทุนที่ลดลงแล้ว ธุรกิจตลอดสายซัพพลายเชนดังกล่าวก็จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นเครื่องจักรและส่วนอิเล็กโทรนิคส์ ผู้ให้บริการซอร์ฟแวร์ รวมถึงธุรกิจทางอ้อม เช่น ธุรกิจลิสซิ่ง เหล็ก และปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จะประกอบด้วย ธุรกิจจัดหางาน Outsource

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่ผ่านมา เช่น การเติบโตของ E-Commerce หรือ Mobile Banking & Payment มีผลเพียงในเชิงของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่บทบาทของ Automation จะมีผลโดยตรงต่อพวกเราซึ่งเป็นทั้งนักลงทุนและลูกจ้าง โดย PWC ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2030 (ซึ่งเป็นปีที่คาดว่าจะมีการใช้ระบบ Automation อย่างแพร่หลาย หรือเรียกว่า Wave 3) ลักษณะงานปัจจุบันที่ใช้ความรู้และประสบการณ์ทำงานในระดับต่ำ มีโอกาสที่จะถูกทดแทนถึง 44% ซึ่งจะกระทบตลาดแรงงานและปัญหาการว่างงานอย่างมาก

ที่มา : https://www.pwc.co.uk/economic-services/assets/international-impact-of-automation-feb-2018.pdf

อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวคาดการณ์ต่อว่า งานที่ใช้ความรู้และประสบการณ์ในระดับสูงจะมีโอกาสถูกทดแทนเพียง 11% นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีงานมากมายที่จะหายไปจากตลาดในอนาคต แต่งานในลักษณะใหม่ที่เน้นการใช้ทักษะความสามารถก็จะเกิดขึ้นมากมายเช่นกัน ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ และมีโอกาสต่ำที่จะถูกทดแทนด้วย Automation คือ การศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่ยังมีอยู่มากมายในโลกธุรกิจ โดยเฉพาะ ทักษะ 4 ศาสตร์ในกลุ่ม STEM Fields ซึ่งได้แก่ Science, Technology, Engineering และ Mathematics ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานในปัจจุบัน นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมสร้างความมั่นคงทางการเงินแต่เนิ่นๆ ด้วยการออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเข้ามาของเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดีในระยะยาว