โลกหวั่นโควิดจีนระลอกใหม่ ผนึกช่วย ‘สี จิ้นผิง’ ฝ่าวิกฤติ

โลกหวั่นโควิดจีนระลอกใหม่ ผนึกช่วย ‘สี จิ้นผิง’ ฝ่าวิกฤติ

ทางการและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขต่างประเทศ กำลังจับตาการติดเชื้อโควิด-19 ของจีนอย่างใกล้ชิด ห่วงประชากร 1.4 พันล้านคนมีวัคซีนไม่เพียงพอ และจีนอาจไม่มีเครื่องมือรักษาผู้ป่วย ระลอกใหม่ที่คาดว่า ตลอดปี 2566 อาจมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ด้านธนาคารโลกหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2565 และ 2566 จากผลกระทบผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิดกะทันหัน ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ซบเซาต่อเนื่อง

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงาน เจ้าหน้าที่สหรัฐและยุโรปจำนวนหนึ่งพยายามหาว่า พวกเขาจะช่วยลดวิกฤติโควิดจีนได้หรือไม่และอย่างไร ด้วยความกังวลว่า โควิดในจีนจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลก, ซัพพลายเชนปั่นป่วนยิ่งขึ้นไปอีก และอาจเพาะไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวใหม่

นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ (14 ธ.ค.) ว่า สหรัฐฯ เตรียมการช่วยเหลือทุกทาง ที่จีนอาจยอมรับได้

เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข จากนานาประเทศที่เคยผ่านความยากลำบากตอนโควิดระบาดหนักในประเทศตนมาแล้ว กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการต่อสู้การติดเชื้อของประชาชนจำนวนมหาศาล คือ ต้องเตรียมระบบรักษาพยาบาลไว้ล่วงหน้า รวบรวมข้อมูลอย่างถูกต้อง และการสื่อสารแบบเปิดกว้าง ซึ่งดูเหมือนจีนยังขาดองค์ประกอบเหล่านี้อีกหลายตัว

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยืนกรานมาตลอดว่า ระบบพรรคเดียวของจีนเหมาะสมที่สุดในการจัดการโควิด อีกทั้งวัคซีนจีนยังเหนือกว่าวัคซีนตะวันตก แม้หลักฐานจำนวนหนึ่งเป็นไปในทางตรงข้าม

รัฐบาลประชาธิปไตยพบว่า ตนเองตกที่นั่งลำบากทางการทูต ต้องการช่วยหยุดวิกฤติที่กำลังส่งผลกระทบด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจทั้งระดับภายในประเทศและระดับโลก ในวิถีที่รัฐบาลจีนอาจเต็มใจยอมรับได้

“แนวคิดชาตินิยมวัคซีนของจีนผูกโยง ล้ำลึกกับความภาคภูมิใจของสี และการยอมรับความช่วยเหลือจากตะวันตกไม่เพียงแค่ทำให้สีลำบากใจ ยังทำลายการโฆษณาชวนเชื่อของเขาที่ว่าตัวแบบการปกครองจีนนั้นสุดยอดกว่า” เครก ซิงเกิลตัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการจีน มูลนิธิเพื่อการปกป้องประชาธิปไตย ให้ความเห็น

ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ยุโรปและสหรัฐกำลังคุยกันอยู่เบื้องหลังอย่างระมัดระวังกับ เจ้าหน้าที่จีน พร้อมๆ กับออกแถลงการณ์ด้วยถ้อยคำที่จงใจบอกว่าทุกอย่างกำลังเข้าทางรัฐบาลปักกิ่ง

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐฯ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไม่กี่วันก่อนเจ้าหน้าที่วอชิงตันและปักกิ่งหารือกันเรื่องการจัดการโควิด ตอนเจรจากันในจีนเพื่อเตรียมการให้นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐไปเยือนจีนต้นปีหน้า แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียด อ้าง “ช่องทางการทูตที่ละเอียดอ่อน”

ความช่วยเหลือหนึ่งจากตะวันตกที่พอเป็นไปได้ คือ จีนจะยอมรับวัคซีน mRNA รุ่นอัพเดตของไบออนเทคหรือไม่ วัคซีนรุ่นนี้ ถูกออกแบบมาใช้กับสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนจีน

นายกรัฐมนตรี โอลาฟ โชลซ์ เคยหารือเรื่องนี้ตอนเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนก่อน พร้อมด้วยนายอูกูร์ ซาฮิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ไบออนเทค

ด้านนายแพทย์อาสิส จา ผู้ประสานงาน การรับมือโควิดทำเนียบขาว กล่าวกับผู้สื่อข่าว เมื่อวันพฤหัสบดี (15 ธ.ค.) ว่า อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และชาติตะวันตกยังไม่กล้าเรียกร้องจีนอย่างเปิดเผยให้ยอมรับวัคซีน mRNA ของตะวันตก

“เราพร้อมใช้วัคซีน การรักษาหรืออื่นๆ ช่วยทุกประเทศในโลกที่เราสามารถช่วยได้” นายแพทย์จา กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลปักกิ่งเคยกล่าวว่า “ความได้เปรียบเชิงสถาบัน” จะช่วยให้จีนผ่านการระบาดใหญ่ได้โดยไม่ต้องอาศัยความ ช่วยเหลือจากต่างชาติ จีนยังคงประเมินยอดผู้เสียชีวิตโดยรวมจากโควิดต่ำกว่า 1.1 ล้านคน ของสหรัฐฯ และ 2.1 ล้านคนของยุโรป แต่สัปดาห์ก่อน ไฟเซอร์ บริษัทยาสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงส่งออกยาแพ็กซ์โลวิด ซึ่งเป็นยารักษาโควิดไปยังจีนผ่านช่องทางบริษัทท้องถิ่น ระบุ บริษัทกำลังทำงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ได้ซัพพลายเพียงพอ

“ไม่ว่า จีนร้องขอหรือไม่ ในฐานะพลเมืองปักกิ่ง ผมยินดีกับทัศนคติของรัฐบาลสหรัฐ” นายหู สีจิน อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของพรรคคอมมิวนิสต์ เผยผ่านทวิตเตอร์พร้อมเสริม เขาหวังว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะทำให้ไฟเซอร์ลดราคายาแพ็กซ์โลวิด

สถานการณ์เสี่ยง

ความเป็นอริระหว่างสหรัฐกับจีน สองเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกเข้มข้นขึ้นช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามควบคุมภาคส่วนเซมิคอนดักเตอร์ของจีน และดึงปักกิ่งออกจากการเมืองในเอเชียและแอฟริกา ไบเดนกล่าวว่าการเมืองโลกอยู่ในจุดหักเหระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ แต่สองประเทศนี้ยังคงผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง จีนเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของสหรัฐฯ และเป็นลูกค้าใหญ่สุดของบริษัทอเมริกันหลายแห่ง

“เราอยากให้จีนจัดการโควิดให้ถูกต้อง นี่เป็นผลประโยชน์ของชาวจีนเป็นอันดับแรกและสำคัญที่สุด แต่ก็เป็นผลประโยชน์ของคนทั้งโลกด้วย” บลิงเคน กล่าวในเดือนนี้

ส่วนบริษัทแบรนด์เนมที่ใกล้ชิดกับจีน เช่น แอลวีเอ็มเอชและดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมซื้อขายลดลงเพราะความกังวลเรื่องโควิด เช่นเดียวกับนายเจอโรม เพาเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณความกังวลออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจีนกำลังเผชิญระบบที่ท้าทายมากๆ ในการเปิดประเทศอีกครั้ง ภาคการผลิต การส่งออกและซัพพลายเชนยังคงวิกฤติ “เป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงมาก”

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขนอกประเทศสิ้นหวังว่า อาจสายเกินกว่าป้องกันโศกนาฏกรรมในจีนได้ นายไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคติดเชื้อและนโยบาย มหาวิทยาลัยมินนิโซตา เปรียบกับการรับมือพายุเฮอร์ริเคนระดับ 5 ที่กำลังมาถึงในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง

“ถ้ายังไม่ทำอะไรเลยก็สายเกินไป การระบาดใหญ่จะเล่นงานจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ โชคไม่ดีเลยที่พวกเขาคิดไม่ได้ตั้งแต่เมื่อ 6 หรือ 10 เดือนก่อน พวกเขามีเวลาเตรียมตัวดีกว่านี้”

นายหวง ย่านจง นักวิจัยอาวุโสด้านสาธารณสุขโลก สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุ เชื่อกันว่า ประชาชนในจีนกว่า 160 ล้านคนเป็นเบาหวาน คนอายุกว่า 80 ปี 8 ล้านคนไม่ได้ฉีดวัคซีน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยทำให้โควิดรุนแรง

นายแพทย์เจอโรม คิม ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนระหว่างประเทศในกรุงโซล กล่าวว่า เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุด จัดการกับการระบาดใหญ่ด้วยการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เสริมความแข็งแกร่งให้โรงพยาบาลก่อนเปิดประเทศ และสื่อสารกับสาธารณชนให้เข้าใจโควิด ทางการตั้งศูนย์สุขภาพและแอพพลิเคชันแจ้งประชาชนให้ทราบถึงอาการที่ต้องหลีกเลี่ยงการนำเชื้อไปติดคนอื่น แต่จีนทำแบบนี้หรือยังเขาไม่อาจทราบได้

เวิลด์แบงก์หั่นคาดการณ์จีดีพีจีน

รายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เมื่อวันอังคาร (20 ธ.ค.) คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 2.7% ในปี 2565 ก่อนจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 4.3% ในปี 2566 เมื่อเปิดประเทศหลังจากโควิดระบาดอย่างรุนแรงที่สุดแล้ว ซึ่งการเติบโตของจีนในปีนี้ที่เวิลด์แบงก์ประเมินไว้ ต่ำกว่าเป้าทางการ 5.5% อยู่มาก ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย.เวิลด์แบงก์เคยคาดการณ์ว่า ปี 2565 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 2.8% และ 4.5% ในปี 2566

รายงานระบุ “แนวโน้มการเติบโตของจีนยังตกอยู่ในความเสี่ยงสำคัญ ผลจากวิถีการระบาดไม่แน่นอน การปรับนโยบายรับมือสถานการณ์โควิด-19 และการตอบสนอง เชิงพฤติกรรมของครัวเรือนและภาคธุรกิจ แรงกดดันต่อเนื่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจส่งผลไปถึงการเงินและเศรษฐกิจมหภาคในวงกว้าง”

นอกจากนี้ จีนยังคงเผชิญกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอนสูง ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น

สัปดาห์ก่อน ผู้นำจีนให้คำมั่นปรับเปลี่ยนนโยบายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชะลอตัว รองรับผลกระทบที่จะมีต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภคในช่วงที่การติดเชื้อโควิดพุ่งสูง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกอ่อนแอทำร้ายการส่งออก

ที่มา: รอยเตอร์