เอเชียยิ้ม หลังยุโรปคุมราคาก๊าซ

เอเชียยิ้ม หลังยุโรปคุมราคาก๊าซ

หลังหารือร่วมกันมานานหลายเดือน ในที่สุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 ธ.ค.) ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปก็สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายที่จะกำหนดเพดานราคาก๊าซ หลังต้นทุนพุ่ง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยชาติสมาชิกเห็นพ้องกันที่จะตรึงราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติภายในกลุ่มไว้ที่ 180 ยูโร (หรือประมาณ 6,500 บาท) ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) เป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางวิกฤติราคาพลังงานนับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน

โดยมาตรการนี้จะมีผลต่อเมื่อราคาก๊าซทะลุระดับ 180 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จะถูกจำกัดให้เพิ่มขึ้นได้อีกไม่เกิน 35 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับเพดานที่ต่ำกว่าคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอไปก่อนหน้านี้อย่างมากที่ระดับ 275 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง

ผู้นำของแต่ละประเทศต่างพยายามผลักดันให้เกิดข้อสรุปเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวก่อนที่ฤดูหนาวจะมาเยือน เนื่องจากจะเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการบริโภคก๊าซปรับตัวสูงขึ้นมาก และถึงแม้ราคาก๊าซในยุโรปจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 100 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงแล้ว แต่ก็ถือว่าสูงกว่าระดับปกติ ซึ่งนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดการณ์กันว่าราคาก๊าซจะยังอยู่ในระดับสูงไปจนถึงปีหน้า

อย่างไรก็ดี แม้มาตรการดังกล่าวอาจช่วยลดปัญหาการพุ่งขึ้นของราคาก๊าซ แต่หลายฝ่ายก็มองว่าอาจทำให้ยุโรปเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอุปทานหรือซัพพลายแทน และการแข่งกันกับชาติในเอเชียก็อาจทวีความรุนแรงขึ้นเช่นเดียวกัน

นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ มองว่าการดำเนินมาตรการตรึงราคาก๊าซโดยปราศจากแผนการป้องกันความเสี่ยงด้านอุปทาน จะยิ่งทำให้ปัญหาพลังงานของยุโรปยิ่งแย่ลง และอาจส่งผลกระทบให้อุปทานทั่วโลกตึงตัวตามไปด้วยในปีหน้า และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจบีบให้รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการปันส่วนก๊าซได้

นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวจะทำให้ผู้นำเข้าพลังงานในภูมิภาคไม่สามารถแข่งขันด้านการเสนอราคาซื้อก๊าซ LNG ได้ เนื่องจากผู้ผลิตจะหันไปหาผู้นำเข้าจากเอเชียมากกว่า หากเสนอราคาสูงกว่าเพดานราคาก๊าซของสหภาพยุโรปได้ เช่น ในกรณีของประเทศจีน ที่ความต้องการในประเทศกำลังฟื้นตัวหลังเปิดประเทศอีกครั้ง

ผู้นำเข้าก๊าซ LNG ในยุโรปและเอเชียต่างกำลังแข่งขันกันเพื่อให้ได้สัญญาซื้อขายก๊าซกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกาและกาตาร์ ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งของการตรึงราคา คือ สามารถลดโอกาสของสงครามการเสนอราคา และการพุ่งสูงขึ้นของราคาก๊าซ

นักวิเคราะห์จึงมองว่านโยบายนี้จะส่งผลดีต่อชาติในเอเชีย หลังจากที่เคยประสบปัญหาการนำเข้าก๊าซ LNG ก่อนหน้านี้ เนื่องจากชาติในยุโรปมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่า แต่เมื่อมีเพดานราคาจะทำให้ชาติในยุโรปไม่สามารถเสนอขอซื้อพลังงานในมูลค่าเดิมได้ ทำให้การแข่งขันกับผู้นำเข้าในเอเชียอ่อนตัวตามไปด้วย

ก่อนหน้านี้ ชาติสมาชิก เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการนี้ และต้องการให้แนวทางมีความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงตลาดมากเกินไป ในขณะที่เบลเยียม อิตาลี กรีซ และโปแลนด์ ต่างเรียกร้องมาตรการที่มีความแข็งกร้าวมากกว่าในการควบคุมราคาก๊าซ ซึ่งเยอรมนีและประเทศอื่น ๆ กังวลว่าการกำหนดเพดานราคาในยุโรปอาจทำให้ภูมิภาคนี้มีความน่าสนใจน้อยลงสำหรับผู้ขายทั่วโลก ในเวลาที่ภูมิภาคนี้แสวงหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

ที่มา:  บลูมเบิร์ก