Fund Comment มกราคม 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มกราคม 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ในเดือนมกราคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นถึงระยะกลางปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 21-43 bps. จากกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลออก และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงตามการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ  

คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps จาก 1.25% เป็น 1.50% เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยายามสกัดเงินเฟ้อที่่เพิ่่มขึ้้นสููงในรอบหลายปี โดยในเดือนมกราคมมีการประชุมของธนาคารกลางหลักๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 25 bps สู่ระดับ 4.50-4.75% เป็นการชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังจากที่ได้ปรับขึ้นในอัตรา 50 bps ในการประชุมครั้งก่อนและในอัตรา 75 bps ในการประชุม 4 ครั้งก่อนหน้า โดยยังคงย้ำว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมมีความเหมาะสม เพื่อให้อยู่ในระดับที่จำกัดเศรษฐกิจเพียงพอในการนำพาเงินเฟ้อให้ชะลอกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% โดยแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot plot บ่งชี้ว่า Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแตะระดับสูงสุด (Terminal rate) ที่ 5.00-5.25% และคงที่ระดับดังกล่าวตลอดจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) และยังคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวในกรอบ +/-0.5% สวนทางกับตลาดที่มองว่า BoJ  จะเปิดกรอบการเคลื่อนไหวให้กว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นเพื่อให้บริษัทสามารถเพิ่มค่าจ้างขึ้นได้และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้อย่างยั่งยืน และยังไม่มีความจำเป็นในการขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเพิ่ม

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป คาดว่า  อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะปรับตัวตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งยังคงมองว่า กนง.จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่จากนโยบายการเงินตึงตัวทั่วโลกที่ยังมีแนวโน้มต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี รวมทั้ง Fed ที่แม้ว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง ซึ่งจะยังคงกดดันการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ประกอบกับเงินเฟ้อไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเกินเป้าหมายของ ธปท. ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังมีความผันผวนสูงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว