ว่าด้วยเรื่อง Silicon Valley Bank (Part 2)

ว่าด้วยเรื่อง Silicon Valley Bank (Part 2)

โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา และ พิชา เลียงเจริญสิทธิ์

ภายหลังจากที่ SVB เกิดปัญหา จนเกิดความระส่ำในหมู่กลุ่มลูกค้า ก็ได้เกิดความปั่นปวนต่อเนื่อง  ไปยังธนาคารที่มีขนาด หรือมีโมเดลทางธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน เช่น First Republic Bank (ที่ต้องออกมาประกาศในช่วงปลายสัปดาห์ว่า มีสภาพคล่องมากพอ เพื่อคลายความกังวลของลูกค้า) ด้าน Khosla Ventures ซึ่งเป็น Venture Capitalist ก็ออกมาประกาศว่า กำลังหาวิธีบริหารสภาพคล่องเพื่อคลายความกังวลของนักลงทุน เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ที่อาจจะเป็นลูกค้า หรือเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกับ SVB ต่างประสบกับสถานการณ์คล้ายคลึงกัน คือ

“เมื่อบริษัทหนึ่งล้ม จะเกิดการตั้งคำถามต่อว่า ใครบ้างที่มีส่วนถูกหางเลขไปด้วย”

“ถอนเงินออกมาก่อนไว้ให้อุ่นใจดีกว่า” 

หากไฟไม่ได้รับการดับ ไฟก็จะลุกลามไปเรื่อยๆ

จึงเป็นที่มาของการเข้ามาของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางสหรัฐฯ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กระทั่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่ต้อง Step-up มาบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์

โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า

“I am firmly committed to holding those responsible for this mess fully accountable and to continuing our efforts to strengthen oversight and regulation of larger banks so that we are not in this position again,” (March 12).

เมื่อเริ่มเข้าต้นสัปดาห์ เราจึงเห็นมาตรการของทางการออกมาอย่างทันท่วงที ได้แก่

  • FDIC หรือสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะรับประกันผู้ฝากเต็มจำนวน
  • Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาตรการเพิ่มเติมที่ชื่อว่า “Bank Term Funding Program” เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาของ SVB โดยให้ SVB สามารถขอสินเชื่อผ่านโครงการนี้ได้ในระยะเวลา 1 ปี ในกรอบวงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ โดยสาเหตุที่ Fed ออกมาตรการนี้ออกมาก็เพื่อช่วยให้ SVB ไม่ต้องตัดสินทรัพย์ตัวเองออกขาย
  • นอกจากนี้ Fed ยังให้ SVB สามารถขอใช้สภาพคล่องผ่าน Direct Lending Facility ของ Fed ได้อีกด้วย

มาตรการดังกล่าวที่ปล่อยออกมาอย่างทันท่วงทีนั้นก็เพื่อดับไฟก่อนที่จะลุกลามไปยังจุดอื่นๆ

เมื่อคุมสถานการณ์ได้แล้ว Fed ก็จะส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบว่า SVB มีปัญหาตรงไหน และ Fed เองก็คงจะตรวจสอบสถาบันทางการเงินอื่นๆ ด้วยการทำ Stress Test ด้วยเช่นเดียวกัน

เราคงจะยังไม่สามารถประเมินได้ว่า สถานการณ์นี้จะลุกลามบานปลายหรือไม่ แต่เท่าๆ ที่เปรียบเทียบไวๆ ก็พบว่า Scale ของธนาคารที่มีปัญหาไม่ได้ใหญ่โตเท่ากับ Lehman Brothers อีกทั้งสินทรัพย์ที่ SVB ถืออยู่ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรคุณภาพดี (ยกเว้นเสียแต่ว่า SVB ไปทำอะไรนอกงบดุลที่เรายังไม่รู้) ดังนั้น เบื้องต้นจึงคิดว่าปัญหาครั้งนี้น่าจะไม่ใหญ่โตเท่าปี 2008

แต่ถึงแม้ว่าปัญหาจะไม่ได้ใหญ่มากเท่าปี 2008 แต่ก็สำคัญมากพอที่จะทำให้ ตลาดพลิกกลับความคาดหวังที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้แทบจะทันที

จากเดิมที่เปลี่ยนความคาดหวังของดอกเบี้ยตาม Non-farm Payroll และอัตราเงินเฟ้อ

กลับกลายเป็นว่า

ตลาดเริ่มสงสัยว่า สภาพแวดล้อมทางการเงินที่อัตราดอกเบี้ยยืนสูงเช่นนี้ เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการทำธุรกิจหรือเปล่า

เราจึงเห็นตลาดหุ้นขยับลง โดยทั่วกัน ขณะที่ บอนด์ยิลด์ปรับลงรับความคาดหวังที่เปลี่ยนไป

Timeline ที่สำคัญที่นักลงทุนต่างรอคอย คือ การประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. ว่า Fed จะนำสถานการณ์ SVB เข้ามาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

ซึ่งแค่หาก Fed เปลี่ยนใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ ก็อาจจะเป็นโอกาสลงทุนหลังฝุ่นตลบได้อีกรอบใหญ่เลยทีเดียว