BF Knowledge Tips: อินโดนีเซียกับการเติบโตของธุรกิจสินแร่

BF Knowledge Tips: อินโดนีเซียกับการเติบโตของธุรกิจสินแร่

โดย เสกสรร โตวิวัฒน์  CFP®   BBLAM

ปัจจุบันการเติบโตทางธุรกิจของประเทศฝั่งตะวันออกมีมากขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มประเทศอาเซียนก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยศักยภาพของจำนวนประชากรรวมกันที่มีจำนวนมาก กว่า 660 ล้านคน (ปี 2564) เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย ประชากรหลายประเทศมีอายุเฉลี่ยอยู่ในวัยทำงานสร้างรายได้ โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ขณะที่ ไทยและสิงคโปร์ แม้จะมีประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ทำให้ในภาพรวมมีศักยภาพในการเติบโตสูง

นอกจากนี้ ความที่ประเทศต่างๆ ยังต้องการการพัฒนาด้านโครงสร้างอีกมาก ทำให้เต็มไปด้วยการสร้างงานสร้างรายได้ในภูมิภาคนี้ยังมีอีกมากประเทศในอาเซียนที่มีความโดดเด่นในแง่โอกาสการเติบโต คือ อินโดนีเซีย ในแง่ของศักยภาพจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ นั่นคือ สินแร่ต่างๆ ครับ

ข้อมูลจากฝ่ายจัดการลงทุนของ บลจ.บัวหลวง ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุ และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวนมาก  แต่ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจเหมืองแร่ยังคงเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจโดยรวม โดยมูลค่าของธุรกิจเหมืองแร่และถ่านหิน คิดเป็นเพียง 5% ของ GDP ในปี 2019 ทำให้อินโดนีเซียพยายามมองหาโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจนี้

ในปีที่ผ่านมา ถ่านหินถือเป็นพระเอกที่สร้างรายได้ให้กับอินโดนีเซีย เพราะ อินโดนีเซีย นับเป็นประเทศผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย แต่การเติบโตจากถ่านหินก็ไม่ถือว่ายั่งยืนครับ เพราะไม่ใช่พลังงานสะอาด อินโดนีเซียเองก็รู้เรื่องนี้ดี และยกระดับอุตสาหกรรมจากสินแร่อื่นที่มีอยู่ให้มากขึ้น มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 30% และเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองนิกเกิลที่สูงที่สุดในโลกที่ 22% รัฐบาล Jokowi ตระหนักถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งของทรัพยากรนิกเกิลและสนับสนุนการทำธุรกิจปลายน้ำในประเทศ จึงทำให้เริ่มห้ามการส่งออกนิกเกิลตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมถึง 2 ปี ก่อนที่ทางอินโดนีเซียจะประกาศห้ามส่งออกนิกเกิล โรงหลอมในประเทศจีนก็นำเข้านิกเกิลจากอินโดนีเซียมาใช้ผลิตสแตนเลสและอัลลอยด์ในประเทศ แต่หลังจากมีมาตรการห้ามส่งออกเกิดขึ้น อินโดนีเซียก็ได้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงของบริษัทจีนที่เข้ามาทำธุรกิจสร้างโรงหลอมและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของธุรกิจสินแร่ให้กับประเทศ

ในปี 2021 อินโดนีเซียได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิต Stainless Steel ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่ประเทศจีน อินโดนีเซีย ส่งออกแสตนเลสสูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเมื่อสิบปีก่อนที่เพียง 2 พันล้านเหรียญเท่านั้น จนปัจจุบัน สแตนเลสกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับที่ 3 ของอินโดนีเซีย รองจากถ่านหินและน้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมเหล็กเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แผนงานของอินโดนีเซีย คือ มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจปลายน้ำของทรัพยากรแร่ธาตุ โดยเฉพาะนิกเกิล ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดของโลก

นอกจากนี้ เรื่องนิกเกิลเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย เพราะนิกเกิลเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมอิออนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบัน การใช้นิกเกิลในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นเพียง 5% ของการใช้นิกเกิลทั้งหมด แต่คาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% ในปี 2025 สอดคล้องกับเรื่อง Climate Change และแนวโน้มการลดใช้คาร์บอน รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งมั่นที่จะทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสร้างห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจรให้สำเร็จภายในปี 2024

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคันจะใช้นิกเกิลมากกว่ารถยนต์ธรรมดาถึง 7-15 กิโลกรัม อีกทั้งคาดการณ์ว่า สัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะสูงถึง 30% ของการใช้รถทั้งหมดในปี 2025 เทียบกับ 12% ณ ระดับปัจจุบัน

นอกจากรถยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อแล้ว อินโดนีเซียยังมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 2 ล้อด้วย เนื่องจากอินโดนีเซียมีตลาดรถ 2 ล้อที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจากอินเดียและจีน ในปี 2020 อินโดนีเซียมีจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันสูงถึงกว่า 110 ล้านคัน ซึ่งปัจจุบัน ราคารถยนต์ไฟฟ้า 2 ล้อ เทียบกับมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันก็ใกล้กันแล้ว โอกาสตรงนี้จึงสูงมาก

รัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าการเดินทางสาธารณะจะกลายเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดภายในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเร่งขยายสถานีชาร์ตและสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดภาษีฟุ่มเฟือยเหลือ 0% จากที่เก็บ 9-20% สำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันและนอกเหนือจากนิกเกิลแล้ว อินโดนีเซียยังตั้งใจจะพัฒนาธุรกิจปลายน้ำของ bauxite ทองแดง และดีบุกในระยะต่อไป ซึ่งกลยุทธ์การเติบโตธุรกิจปลายน้ำได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศอินโดนีเซียครับ