RMF ลงทุนง่าย เงื่อนไขไม่ยากอย่างที่คิด (ตอนจบ)

RMF ลงทุนง่าย เงื่อนไขไม่ยากอย่างที่คิด (ตอนจบ)

By…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา

BF Knowledge Center

เมื่อตอนที่แล้วเราได้พูดถึงการลงทุนเพื่อวัยเกษียณที่สามารถรับสิทธิลดหย่อนภาษีได้มีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

แต่ก็มักจะพบว่ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF มักถูกมองข้ามจากผู้ลงทุน  เพราะส่วนใหญ่หวั่นใจกับเงื่อนไขการลงทุนระยะยาว  ผู้ลงทุนมักคิดว่าอีกตั้งนานกว่าจะเกษียณ (ลงทุนล่วงหน้า 10-20 ปี กว่าจะขายคืนได้ก็นานเกิน)   แต่อยากให้ฉุกคิดว่า “เป้าหมายหลักที่ทุกคนต้องการ” คืออะไร ลืมไปรึเปล่าว่า ที่ต้องการคือมีคุณภาพชีวิตที่ดี  และแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากไม่มีเงินใช้ในวัยเกษียณ   ซึ่งรู้หรือไม่ว่า การเริ่มต้นลงมือทำตั้งแต่เนิ่นๆ ทุกคนสามารถมีเงินลงทุนสะสมหลักล้านได้ง่ายกว่าเพียงเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ และย่อมดีกว่าไปเริ่มต้นลงมือทำตอนที่อายุมากแล้ว

โดยกองทุนรวม RMF เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้ไม่ยาก แม้จะมีเงื่อนไขหลายประการ แต่ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร จึงจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ง่ายและเข้าใจตรงกัน

1.) การลงทุนในกองทุนรวม RMF  นอกจากจะต้องคำนวณสิทธิในการซื้อต่อปี คือ ขั้นต่ำ 3% ของเงินได้พึงประเมินหรือ 5,000 บาท  และ สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 500,000 บาทแล้ว    ผู้ลงทุนยังต้องมีวินัยในการลงทุนต่อเนื่องทุกปี  

  • สมมุติเรามีเงินได้พึงประเมินในปีนี้ 1,000,000 บาท  ต้องการลดหย่อนภาษีจึงลงทุนตามสิทธิสูงสุดคือ 1,000,000 x 15% = 150,000 บาท    ในปีถัดไปสมมติว่าเรามีเงินได้พึงประเมินเท่าเดิม  แต่อาจไม่สะดวกที่จะลงทุนเท่าปีก่อน  ก็สามารถลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท เพื่อเป็นการรักษาสิทธิการลงทุนในกองทุนรวม RMF ในปีนั้นก็ได้   ซึ่งหากนำมาเฉลี่ยรายเดือนก็เท่ากับเดือนละประมาณ 417 บาทเท่านั้น   ดังนั้น การลงทุนในกองทุนรวม RMF จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับทุกคน   หากผู้ลงทุนเลือกทยอยลงทุนรายเดือนสะสมไปเรื่อยๆ ปีไหนมีเงินเพิ่มเติมก็ลงทุนเพิ่มได้

2.) สำหรับการขายคืนหน่วยลงทุนแบบถูกเงื่อนไขได้รับสิทธิยกเว้นภาษี สำหรับกองทุนรวม RMF   เริ่มต้นอธิบายทีไรผู้ลงทุนตั้งหลักงงเอาไว้ก่อน   ในวันนี้ขอให้ตั้งสติให้มั่นและมาทำความเข้าใจคาถา  55-5-5  ไปพร้อมๆ กันอย่างอารมณ์ดี

  • โดยก่อนอื่นให้ทำความเข้าใจก่อนว่า 55 คือ  อายุ 55 ปี  การขายคืนกองทุนรวม RMF แบบถูกเงื่อนไข  ผู้ลงทุนต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ตามบัตรประชาชน  หากขายคืนก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะถือว่าผิดเงื่อนไข  กำไรส่วนเกินจากการลงทุน (Capital Gain) ทั้งหมดจะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ในมาตรา 40(8) …ก็นับว่าจบเห่กันไป
  • 5 ถัดมา คือต้องมีการลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีลงทุน กล่าวคือ สมมติว่าจะเริ่มต้นลงทุนในปี 61 นี้ (นับเป็นปีลงทุนที่ 1) ผู้ลงทุนจะต้องลงทุนต่อไปในปี 62 (ปีลงทุนที่ 2) ปี 63 (ปีลงทุนที่ 3) …. ต่อเนื่องไปจนถึงปี 65 (ปีลงทุนที่ 5)    แต่เอ๊ะๆ เคยมีผู้ลงทุนถามมาว่า ตอนนี้ตัวเองเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม RMF ตอนอายุ 53 ปี ต่อเนื่องมาจนตอนนี้อายุ 55 ปีแล้วจะทำการขายคืนแบบถูกเงื่อนไขเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ ได้หรือไม่?  คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะยังไม่เข้าเงื่อนไขใน 5 นี้ คือ ลงทุนไม่ต่อเนื่อง 5 ปี   ทางออกสำหรับผู้ลงทุนรายนี้คือ ลงทุนต่ออีก 5 ปี  โดยอาจเลือกลงทุนขั้นต่ำเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ
  • 5 สุดท้าย คือ ถือครองกองทุนรวม RMF อย่างน้อย 5 ปีนับแบบวันชนวัน โดยจะนับวันที่เริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม RMF ครั้งแรกเสมือนเป็นวันเกิด เช่น วันที่ 9 พ.ค.61 เป็นวันเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม RMF ครั้งแรก   วันที่ 9 พ.ค.62 ก็จะนับเป็นปีถือครองที่ 1 (อายุครบ 1 ขวบก็เป่าเค้กให้ 1 ปี แต่หากปีไหนไม่มีการซื้อกองทุนรวม RMF ก็จะเหมือนว่าปีนั้นลืมซื้อเค้กมาเป่า เท่ากับว่าไม่ได้นับอายุการถือครองในปีนั้น) กล่าวคือ หากผู้ลงทุนต้องการขายคืนหน่วยลงทุนอย่างถูกเงื่อนไขจะต้องปฏิบัติตามคาถาครบทั้ง 3 ข้อ  55-5-5  ก็จะสามารถขายคืนไป หัวเราะไปด้วยได้เพราะกำไรส่วนเกินที่ได้รับจากการลงทุนทั้งหมดยกเว้นภาษีเงินได้

คุยกันมาถึงตรงนี้แล้ว… ผู้ลงทุนคงสงสัยว่า  หากมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องขายคืนกองทุนรวม RMF ก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์นี่จะสามารถทำได้ไหม?  ก็แหมมมม… มันนานซะขนาดนี้     ตอบตรงนี้เลยว่า “ได้”  โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้

  • กรณีแรก  ลงทุนต่อเนื่องน้อยกว่า  5  ปีลงทุน  ผู้ลงทุนจะต้องคืนเงินที่ได้รับการลดหย่อนภาษีให้กับสรรพากรทั้งหมด  และ หากมีกำไรส่วนเกินที่ได้รับจากการขายคืน (Capital Gain) จะต้องนำไปรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้  โดยจัดเป็นเงินได้ในมาตรา 40(8)   แต่หากขายคืนแล้วขาดทุนก็ไม่ต้องทำอะไรในส่วนนี้  เพียงแค่คืนเงินที่ได้รับการลดหย่อนภาษีให้กับสรรพากรเท่านั้น    ทั้งนี้ การคืนเงินภาษีให้สรรพากร รวมถึงการเสียภาษีจากกำไรส่วนเกินทุนให้ทำภายในปีภาษีที่ผิดเงื่อนไขนั้น เช่น ขายคืนผิดเงื่อนไขในปี 61  ให้ยื่นเรื่องพร้อมการเสียภาษีปกติของปี 61 (ภายใน มี.ค.62)
  • กรณีที่สอง  ลงทุนต่อเนื่องมากกว่า  5  ปีลงทุน  ผู้ลงทุนจะต้องคืนเงินที่ได้รับการลดหย่อนภาษีให้กับสรรพากร  5  ปีย้อนหลัง (5 ปีใกล้เท่านั้น)   สำหรับเงินลดหย่อนที่ได้รับคืนจากสรรพากรก่อนหน้านี้   รวมถึงกำไรส่วนเกินที่ได้รับจากการขายคืน (Capital Gain) ทั้งหมดจะไม่ถูกนับเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี

รู้ครบถ้วน และเข้าใจเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแบบนี้แล้ว ครั้งหน้าเมื่อนึกถึงการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ หวังว่ากองทุนรวม RMF จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการลงทุนของทุกท่าน