Fund Comment พฤษภาคม 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment พฤษภาคม 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ในเดือนพฤษภาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นในแทบทุกช่วงอายุ โดยช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19-25 bps. ในขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 1-16 bps. เป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามความคาดการณ์ของตลาดที่มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขยับขึ้นสู่ระดับ 2.00% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 พ.ค. 2566

วันที่ 31 พ.ค. 2566 กนง. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps เป็น 2.00% ต่อปี ตามที่ตลาดคาด และมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 3.6% และ 3.8% ในปี 2023 และ 2024 สำหรับเงินเฟ้อมองว่า แม้มีแนวโน้มปรับลดลงในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทรงตัวอยู่ที่ 2% ในปี 2023 และ 2024 ซึ่งนับว่าสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขในอดีต จึงเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย

ในส่วนของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ตลาดเผชิญความผันผวนอย่างหนักตลอดทั้งเดือน จากความวิตกเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ (Debt Ceiling) อย่างไรก็ดี ความกังวลนี้คลายลงหลังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ ที่ชื่อ พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางการคลัง (Fiscal Responsibility Act) ในวันที่ 2 มิ.ย.และในวันที่ 5 มิ.ย. ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายเพื่อระงับการตั้งเพดานหนี้จนถึงเดือนมกราคม 2025 และเปิดทางให้รัฐบาลเดินหน้ากู้ยืมได้เกินกว่าระดับเพดานหนี้ปัจจุบันที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เป็นระยะเวลา 19 เดือนบนเงื่อนไขที่กำหนดนอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ตลาดยังผันผวนจากความคาดหวังของตลาดที่เปลี่ยนไปมาเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของเฟด จากเดิมตลาดคาดว่าเฟดมีแนวโน้มยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ยจนถึงอาจลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ เปลี่ยนเป็นเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก 1-2 ครั้งภายในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตดีกว่าคาด เงินเฟ้อแม้ชะลอแต่คงตัวในระดับสูง รวมถึงตลาดแรงงานที่ชะลออย่างช้าๆ แต่แข็งแกร่งกว่าคาด สำหรับการประชุม Fed ครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 13-14 มิ.ย.

สำหรับยูโรโซน ตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซนล่าสุด เดือน พ.ค. ลดลงมากกว่าคาด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงมาที่ 6.1% จาก 7% ในเดือน เม.ย. ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงสู่ระดับ 5.3% จาก 5.6% ในเดือน เม.ย. สำหรับการประชุม ECB ครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 15 มิ.ย.

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป คาดว่า ปริมาณพันธบัตรเสนอขายที่ลดลงในไตรมาสสี่จากความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนราคาพันธบัตร อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะปรับตัวตามดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมองว่ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับ 2.25% จากท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีมุมมองห่วงปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีแนวโน้มผันผวนตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ