อินเดียจ่อดัน รูปี ใช้จ่ายระบบการเงินโลกเพิ่ม หนุนกระแส ‘De-dollarization’

อินเดียจ่อดัน รูปี ใช้จ่ายระบบการเงินโลกเพิ่ม หนุนกระแส ‘De-dollarization’

“ธนาคารกลางอินเดีย” เตรียมดันสกุลเงินรูปี ใช้จ่ายในระบบการเงินโลกมากขึ้น ตามหลังสกุลเงินหยวน สอดคล้องกับกระแสลดใช้เงินดอลลาร์ หรือ De-dollarization

Key Points

  • อินเดียจ่อดันสกุลเงินรูปีใช้จ่ายกันมากขึ้นในระบบการเงินโลก หรือ Internationalization ตามหลังสกุลเงินหยวนของจีน
  • ดอลลาร์ยังครองตลาดการทำธุรกรรมระดับโลกอยู่ที่เกือบ 90%
  • ตามระเบียบการเงินโลก มักมองหา “สกุลเงินใหม่” ในอนาคตอยู่เสมอ

สำนักข่าวอินไซด์เดอร์ (Insider) รายงานถ้อยแถลงของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ว่า ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้นที่พยายามทำให้สกุลเงินของตัวเองเป็นสากล (Internationalize) เพราะขณะนี้ อินเดียพยายามทำในแบบเดียวกัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ “ดอลลาร์” ยังเป็นสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบการค้าและการเงินของโลก

อย่างไรก็ตาม จากการคว่ำบาตรรัสเซีย ผ่านการบังคับให้ออกจากระบบการเงินโลก ซึ่งครอบงําด้วยเงินดอลลาร์ส่งผลให้ประเทศอื่นทั่วโลก ตกใจกับสถานการณ์ดังกล่าว” จนพยายามหาสกุลเงินสำรองอื่นมาใช้เพื่อทำธุรกรรมด้วย

“การทําให้สกุลเงินเป็นสากลยังเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโดดเด่นในการค้าโลก” คณะทํางานอาร์บีไอ กล่าวในรายงาน

แม้ว่า อาร์บีไอ จะกล่าวว่า คำแนะนำของคณะทำงานไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนอย่างเป็นทางการ แต่ถ้อยแถลงเหล่านั้นเกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากคณะบริหารของ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) เริ่มโน้มน้าวให้ประชาชนใช้เงินรูปีมากขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ จากรายงานซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว  คณะทำงานอาร์บีไอ สนับสนุนการเปิดบัญชีสกุลเงินรูปีสำหรับผู้ที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในอินเดียและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังแนะนำให้รวมระบบการชำระเงินของอินเดียสำหรับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนเข้ากับระบบในประเทศอื่น

ในขณะที่ สภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับมหภาคกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ แสวงหาสกุลเงินอื่นเพื่อใช้แลกเปลี่ยนและซื้อขายด้วย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการที่เงินดอลลาร์ “มีอำนาจเหนือกว่า” ในด้านการค้าและการเงินทั่วโลก

โดยในรายงานอาร์บีไอ เน้นย้ำว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องรักษาภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองในฐานะผู้ออกสกุลเงินสำรอง แต่เมื่อถูกบังคับให้เลือกระหว่าง “ผลประโยชน์ของตัวเอง” กับผลประโยชน์ส่วนอื่นของโลก แน่นอนว่า รัฐบาลอเมริกัน “ไม่ลังเลที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง”

โดยรายงานระบุต่อว่า ทั้งหมดเป็นปัญหาในปัจจุบันเพราะเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิด “ความไม่สมดุล ในระบบการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเอนเอียงไปทางสหรัฐเนื่องจากเป็นผู้ออกสกุลเงินสำรองหลักของโลก 

“ดังนั้น ในขณะที่การครอบงำของเงินดอลลาร์อยู่มายาวนานถึง 50 ปี และปัจจุบันก็ยังคงไม่มีใครเข้ามาแทนที่ได้ แต่ความนิยมของดอลลาร์ก็เริ่มลดลงอย่างช้าๆ และระเบียบเศรษฐกิจ (The Economic Order) ​จะต้องมีวิวัฒนาการเพื่อมองไปไกลกว่าเงินดอลลาร์แน่นอน” คณะทำงานอาร์ไอบี กล่าวเพิ่มเติม

จากการสำรวจของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ในปี 2565 ซึ่งสมาชิก คือ บรรดาธนาคารกลางทั่วโลก พบว่า แม้ทั่วโลกจะมีแนวโน้มลดการใช้เงินดอลลาร์ลง แต่สกุลเงินดังกล่าวก็ยังเป็นสกุลเงินสำรองที่โดดเด่นที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 90% ของธุรกรรมสกุลเงินต่างประเทศทั่วโลก 

โดยตามการรายงานของ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) พบว่า อินเดียมีความก้าวหน้าเล็กน้อยด้วยการผลักดันให้ใช้เงินรูปีมากขึ้นเพื่อการค้า โดยมีเพียง 0.01% ของการซื้อขายสินค้าของอินเดียที่ชำระด้วยสกุลเงินรูปีเมื่อปีที่แล้ว

ที่มา: บลูมเบิร์ก