โลกหวั่นอาหารขาดแคลน-ราคาพุ่ง หลัง ‘อินเดีย’ ระงับส่งออกข้าวขาว เพื่อรองรับตลาดในประเทศ

โลกหวั่นอาหารขาดแคลน-ราคาพุ่ง หลัง ‘อินเดีย’ ระงับส่งออกข้าวขาว เพื่อรองรับตลาดในประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว India imposes major rice export ban, triggering inflation fears ระบุว่า อินเดียซึ่งเป็นชาติที่ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ หลังจากราคาขายปลีกข้าวพุ่งขึ้นร้อยละ 3 ในช่วง 1 เดือนหลังจากช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งฝนมรสุมที่ตกหนักยังทำให้พืชผลเสียหายอย่างมาก 

การประกาศของอินเดียเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ทำให้โลกกังวลว่า อาจนำไปสู่ปัญหาราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอินเดียครองสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของตลาดส่งออกข้าวทั่วโลก โดยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไปรวมกับปัจจัยอื่นๆ อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ขณะที่ ทางการอินเดียชี้แจงว่า มาตรการระงับการส่งออกข้าวนั้น เพื่อให้แน่ใจว่ามีข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเพียงพอและแก้ปัญหาราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นสำหรับตลาดภายในประเทศ ซึ่งราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.5 ในช่วง 12 เดือน

หมวดหมู่ข้าวขาวและข้าวหักที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาตี คิดเป็นประมาณ 10 ล้านตันจากทั้งหมด 22 ล้านตันของการส่งออกข้าวของอินเดียในปี 2565 ในวันที่ 20 ก.ค. 2566 รัฐบาลยังชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่าข้าวนึ่งซึ่งคิดเป็น 7.4 ล้านตันของการส่งออกในปี 2565 ไม่รวมอยู่ในคำสั่งห้าม ทั้งนี้ ท่าทีดังกล่าวของอินเดียแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ต่อภาวะเงินเฟ้อด้านอาหาร ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในปี 2567

รัฐบาลโมดีได้ขยายการห้ามส่งออกข้าวสาลีหลังจากควบคุมการขนส่งข้าวในเดือน ก.ย. 2565 นอกจากนี้ยังจำกัดการส่งออกน้ำตาลในปีนี้เนื่องจากผลผลิตอ้อยลดลง ขณะที่ บี.วี.กฤษณะ เรา (B.V. Krishna Rao) ประธานสมาคมผู้ส่งออกข่าวแห่งอินเดีย กล่าวว่า อินเดียจะส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวทั่วโลกด้วยความเร็วที่สูงกว่ากรณีของยูเครนในตลาดข้าวสาลีหลังเกิดสงครามกับรัสเซีย

ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรกว่า 3 พันล้านคน และเป็นเกือบร้อยละ 90 ของพืชที่ใช้น้ำมากผลิตในเอเชีย ซึ่งสภาพอากาศแบบเอลนีโญมักทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลง ราคาทั่วโลกกำลังลอยตัวอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี โดย เรา ให้ความเห็นว่า การห้ามส่งออกอย่างกะทันหันจะสร้างความเจ็บปวดอย่างมากให้กับผู้ซื้อ ซึ่งไม่สามารถแทนที่การขนส่งจากประเทศอื่นได้

“ในขณะที่ ไทยและเวียดนามไม่มีสินค้าในสต็อกเพียงพอที่จะชดเชยการขาดแคลน แต่ผู้ซื้อชาวแอฟริกันจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการตัดสินใจของอินเดีย หลายประเทศจะเรียกร้องให้นิวเดลีดำเนินการจัดส่งอีกครั้ง ผู้ซื้อข้าวรายใหญ่รายอื่นๆ ของอินเดีย ได้แก่ เบนิน เซเนกัล ไอวอรีโคสต์ โตโก กินี บังกลาเทศ และเนปาล” ปธ.สมาคมผู้ส่งออกข่าวแห่งอินเดีย ระบุ

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า มาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดียจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป ยกเว้นเรือที่ลงสินค้าบรรทุกไปก่อนแล้วจะได้รับอนุญาตให้ส่งออกได้ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากฝนที่ตกหนักทางตอนเหนือของอินเดียในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำลายพืชผลที่เพิ่งปลูกในรัฐต่างๆ รวมทั้งปัญจาบและหรยาณา และเกษตรกรจำนวนมากต้องปลูกใหม่

นาข้าวในรัฐทางตอนเหนือจมอยู่ใต้น้ำนานกว่า 1 สัปดาห์ ทำลายต้นกล้าที่เพิ่งปลูก และบังคับให้ชาวนาต้องรอให้น้ำลดจึงจะปลูกใหม่ได้ ในรัฐที่ปลูกข้าวรายใหญ่อื่นๆ ชาวนาได้เตรียมเรือนเพาะชำข้าวเปลือก แต่ไม่สามารถย้ายต้นกล้าได้เนื่องจากฝนตกไม่เพียงพอ พื้นที่ปลูกข้าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ราคาซื้อข้าวปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ ชาวนาได้ปลูกข้าวเปลือกในพื้นที่เล็กกว่าปี 2565 ถึงร้อยละ 6

ในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่ส่งออกจากเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและไทย พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ เนื่องจากความกังวลด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยข้าวหัก 5% ของเวียดนามเสนอขายอยู่ที่ 515-525 เหรียญสหรัฐ (ราว 17,510-17,850 บาท) ต่อตัน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 ข้าวนึ่งหัก 5% ของอินเดียอยู่ใกล้จุดสูงสุดในรอบ 5 ปีที่อยู่ที่ 421-428 เหรียญสหรัฐ (ราว 14,314-14,552 บาท) ต่อตัน

ผู้ซื้อข้าวชาวยุโรปรายหนึ่ง กล่าวว่า บรรดาผู้ซื้ออาจย้ายไปหาซื้อข้าวที่ประเทศไทยและเวียดนาม แต่ข้าวหัก 5% ของพวกเขาอาจมีราคา 600 เหรียญสหรัฐ (ราว 2 หมื่นบาท) ต่อตัน ผู้ค้าชาวยุโรปอีกรายกล่าวเสริมว่า จีนและฟิลิปปินส์ซึ่งโดยทั่วไปซื้อข้าวเวียดนามและไทย จะถูกบังคับให้จ่ายในราคาที่สูงขึ้นอย่างมาก 

ที่มา: รอยเตอร์