ตะวันตกหนาว! BRICS รับสมาชิกใหม่ 6 ชาติ มาทั้งคู่อริสหรัฐฯ และบิ๊กเนม เป้าหมายเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก

ตะวันตกหนาว! BRICS รับสมาชิกใหม่ 6 ชาติ มาทั้งคู่อริสหรัฐฯ และบิ๊กเนม เป้าหมายเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก

บริกส์ (BRICS) กลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เห็นพ้องกันในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) อ้าแขนต้อบรับซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน เอธิโอเปีย อียิปต์ อาร์เจนตินา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าเป็นรัฐสมาชิก ความเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายเร่งรัดความพยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก ที่พวกเขามองว่าเก่าเก็บล้าสมัยไปแล้ว

ในการตัดสินใจขยายขอบเขตของกลุ่ม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี บรรดาพวกผู้นำบริกส์ยังได้เปิดประตูสำหรับการรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติมในอนาคต ในขณะที่ยังมีอีกหลายสิบประเทศที่ส่งเสียงแสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่ม ที่พวกเขาหวังว่าจะสามารถทำให้เกิดการแข่งขันกันในระดับโลกอย่างเป็นธรรมกับผู้เล่นทุกราย

การขยายขอบเขตเศรษฐกิจเพิ่มเติมเข้าสู่ BRICS ซึ่งปัจจุบันชาติสมาชิกประกอบด้วย จีน ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ยังเป็นการยกระดับความทะเยอทะยานอย่างเปิดเผยของทางกลุ่มในการก้าวเป็นแชมเปียนแห่งโลกใต้

“นี่คือการขยายจำนวนสมาชิกครั้งประวัติศาสตร์” สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าว “มันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบรรดาประเทศกลุ่มบริกส์สำหรับความเป็นหนึ่งเดียวกันและความร่วมไม้ร่วมมือกับบรรดาชาติกำลังพัฒนาในวงกว้าง”

6 ชาติว่าที่สมาชิกใหม่จะกลายมาเป็นรัฐสมาชิกกลุ่มบริกส์อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2024 จากการเปิดเผยของ ซีริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ครั้งที่เขาเปิดเผยชื่อประเทศเหล่านี้ ระหว่างการประซัมมิตผู้นำกลุ่มบริกส์เป็นเวลา 3 วัน ที่เขาเป็นเจ้าภาพในเมืองโยฮันเนสเบิร์ก

“บริกส์ได้เริ่มต้นปฐมบทใหม่ในความพยายามสร้างโลกที่ยุติธรรม โลกที่อยู่ร่วมกันและเต็มไปด้วยความรุ่งเรือง” รามาโฟซา กล่าว “เรามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในขั้นแรกของกระบวนการขยายรับสมาชิก และขั้นอื่นๆ จะตามมาหลังจากนี้”

การเชิญประเทศต่างๆ เข้ากลุ่ม สะท้อนถึงความปรารถนาของรัฐสมาชิกกลุ่มบริกส์แต่ละชาติที่ต้องการดึงพันธมิตรของตนเองเข้าร่วมกลุ่ม

ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล ล็อบบี้ให้นับรวมอาร์เจนตินา ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนอียิปต์นั้นมีความใกล้ชิดทางการค้ากับรัสเซียและอินเดีย

ขณะเดียวกัน การเข้าร่วมของมหาอำนาจทางน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เน้นย้ำว่าพวกเขากำลังปลีกตัวออกจากวงโคจรของสหรัฐฯ และมีความทะเยอทะยานก้าวมาเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก ด้วยสิทธิของตนเอง

รัสเซียและอิหร่านมีเหตุผลร่วมกันในการดิ้นรนต่อสู้กับมาตรการคว่ำบาตรและการโดดเดี่ยวทางการทูตที่นำโดยสหรัฐฯ ในขณะที่ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ชาติมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตามหลังมอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครน

“บริกส์ไม่ได้แข่งขันกับใคร” จากคำกล่าวในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งเข้าร่วมประชุมแบบทางไกล สืบเนื่องจากหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม “แต่ชัดเจนว่า กระบวนการนี้ของการปรากฏขึ้นมาของระเบียบโลกใหม่ ยังคงถูกต่อต้านอย่างดุเดือด”

จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเอธิโอเปีย และการเข้าร่วมของประเทศแห่งนี้ยังเป็นการดำเนินการตามความปรารถนาของแอฟริกาใต้ ที่ประสงค์เห็นแอฟริกามีสิทธิมีเสียงมากยิ่งขึ้นในกิจการต่างๆ ของโลก

ด้วย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาติ เข้าร่วมในการแถลงข่าวขยายจำนวนสมาชิกกลุ่มบริกส์ด้วยในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) มันสะท้อนอิทธิพลที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มนี้ ในขณะที่ กูเตอร์เรส ส่งเสียงเห็นด้วยกับเสียงเรียกร้องมาช้านานของกลุ่มบริกส์ ที่อยากให้มีการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก

เหล่าสมาชิกกลุ่มบริกส์ มีเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมากในแง่ของขนาด และบ่อยครั้งรัฐบาลของพวกเขามีเป้าหมายในนโยบายต่างประเทศแตกต่างกัน เหล่านี้เป็นปัจจัยแทรกซ้อนต่อโมเดลการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ของทางกลุ่ม

บริกส์ มีประชากรรวมกันคิดเป็น 40% ของประชากรโลก และมีเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของจีดีพีโลก อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกภายในเป็นอุปสรรคขัดขวางความทะเยอทะยานของบริกส์มาช้านาน ที่ต้องการกลายมาเป็นผู้เล่นหลักในเวทีโลก

ยกตัวอย่างเช่น กรณีสมาชิกของกลุ่มเน้นย้ำความปรารถนาปลีกตัวเองออกจากดอลลาร์สหรัฐ แต่มันไม่เคยเป็นรูปธรรม ในขณะที่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ความสำเร็จที่เป็นรูปเป็นร่างที่สุดของพวกเขา เวลานี้กำลังประสบปัญหาในยามที่รัสเซีย ผู้ร่วมก่อตั้งกำลังเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตร

ประธานาธิบดีบราซิล ปฏิเสธความคิดที่ว่าทางกลุ่มกำลังหาทางเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯและกลุ่ม 7 ชาติเศรษฐกิจชั้นนำของโลก (จี7) แต่ระหว่างออกเดินทางจากแอฟริกาใต้ในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) เขาไม่เห็นจะมีประเด็นโต้เถียงใดๆ ในการดึงอิหร่าน คู่ปรับเก่าแก่ของสหรัฐฯ เข้าเป็นรัฐสมาชิก “เราไม่อาจปฏิเสธความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของอิหร่านและประเทศอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ สิ่งสำคัญไม่ใช่เรื่องบุคคลที่บริหาร แต่มันอยู่ที่ความสำคัญของประเทศนั้นๆ”

ที่มา: รอยเตอร์