Fund Comment สิงหาคม 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment สิงหาคม 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ในเดือนส.ค. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ โดยพันธบัตรระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ได้มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 2.25% ตามคาดการณ์ในวงกว้างของตลาด เนื่องจาก ธปท. ส่งสัญญาณต้องการสร้าง Policy space เพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ พันธบัตรระยะกลางถึงยาว นอกจากปรับตามการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายแล้วยังเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มาเสริมด้วย

โดยในเดือนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี ได้ปรับขึ้นอยู่ในระดับสูงเหนือ 4% ซึ่งในช่วงต้นเดือนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สหรัฐฯ จาก AAA เป็น AA+ นับเป็นการปรับลดอันดับจากสูงสุดที่ AAA เป็นครั้งที่ 2 จากสถาบันจัดอันดับขนาดใหญ่ หลังจากที่ S&P ปรับลดไปในปี 2011 โดย Fitch ให้เหตุผลถึงภาวะการถดถอยทางการคลังที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า รวมถึงปัญหาภาระหนี้ภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ในช่วงกลางเดือนอัตราผลผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี โดยรุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.34% และรุ่น 2 ปี ขึ้นไปแตะเหนือระดับ 5% หลังจากมีรายงานผลการประชุม Fed ของเดือนก.ค. ออกมาซึ่งบ่งชี้ว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่า อาจมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม และเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างที่นักลงทุนให้ความสนใจในเดือนนี้ คือ การประชุมประจำปี Jackson Hole Economic Symposium วันที่ 24-26 ส.ค. ซึ่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สำหรับปัจจัยและความเสี่ยงในช่วงต่อไปนั้นคาดว่า ความเสี่ยงหลักที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตลาดการเงินคือ สภาพเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ cycle การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ใกล้จบแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยระดับสูงจะยังคงอยู่ไปอีกสักระยะ ซึ่งยังคงต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสำคัญในเดือนก.ย. ทั้ง Fed, ECB, BoE และ BoJ  นอกจากนี้ ในส่วนของในประเทศจะเผชิญกับความไม่แน่นอนของแผนงบประมาณของรัฐบาลซึ่งมีความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐหลังได้รัฐบาลใหม่ที่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น รวมถึง ต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ที่จะจัดการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 27 ก.ย. ซึ่งล่าสุดผู้ว่า ธปท. ได้แสดงความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในขณะนี้ อยู่ใกล้ระดับ neutral หรือระดับที่เหมาะสมแล้ว โดยการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงจากนี้ไป จะให้น้ำหนักกับการมองภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับศักยภาพที่ 3-4% รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบการเงิน