Fund Comment กันยายน 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment กันยายน 2566: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ในเดือนก.ย. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ และส่วนใหญ่ปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบปี ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลมาจากทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยพันธบัตรระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ได้มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 2.50% เพื่อให้มั่นใจว่าขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) มีเพียงพอภายใต้แนวโน้มที่ไม่แน่นอน กนง. ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับเหมาะสม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยได้สู่ระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) แล้วภายใต้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นตามพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับจากปี 2007 รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศจากการประกาศ Bond Supply ของปีงบประมาณ 2024 ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 160,000 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี ได้ปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี โดยอยู่ในระดับสูงเหนือ 4.60% โดยปัจจัยหลักมาจากผลการประชุม Fed ที่เป็น Hawkish Hold ซึ่งการประชุม Fed เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด และ Fed มองว่าเครื่องชี้กิจกรรมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา เทียบกับการประชุมครั้งก่อนที่ประเมินว่า ขยายตัวในระดับปานกลาง ขณะที่ Dot plot ล่าสุด ชี้ให้เห็นว่า ค่ากลาง (Median) ที่ Fed ประเมินระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะอยู่ที่ระดับ 5.30% เช่นเดิมในปี 2023 แต่ปรับสูงขึ้นในปี 2024-2025 มาอยู่ที่ระดับ 5.1% (vs. เดิม 4.6%) และ 3.9% (vs. เดิม 3.4%) ตามลำดับ ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงไปในระยะเวลานานขึ้น

สำหรับปัจจัยและความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ ประเด็นเรื่องการนำพันธบัตรรัฐบาลอินเดียเข้าไปใน JPM Global bond Index กลุ่ม EM ซึ่งอินเดียจะได้รับสัดส่วนเพิ่มประมาณ 10% ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นก็จะต้องถูกปรับลดลงตามสัดส่วน โดยในสัดส่วนดังกล่าว พบว่า ไทยถูกปรับลดลงประมาณ 1.67% จากเดิมน้ำหนักอยู่ 9.79% ลงมาสู่ 8.13% แม้ว่าดัชนีดังกล่าวจะเริ่มในเดือนมิ.ย.2024-มี.ค.2025 แต่ต้องระมัดระวังการปรับลดสัดส่วนพันธบัตรรัฐบาลไทยของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ความกังวลทางด้านการขาดดุลทางการคลังของรัฐบาลไทยยังเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง