Fund Comment สิงหาคม 2566: ภาพรวมตลาดหุ้น

Fund Comment สิงหาคม 2566: ภาพรวมตลาดหุ้น

ภาพรวมตลาดหุ้นโลกในเดือนสิงหาคม ปรับตัวลดลง 2.8% โดย Developed Market (-2.3%) ยังคง Outperform Emerging Market (-6.1%) อยู่ 3.8% ในเดือนสิงหาคม โดยการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งเดือนแรกมีสาเหตุมาจากการที่ Fitch ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลง 1 ขั้น เป็น AA+  ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นแรงกดดันต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ในขณะที่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมามีพัฒนาการในเชิงบวก ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 3.2% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อย ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ได้ผลประโยชน์การจากลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI และปัญหาธนาคารท้องถิ่นสหรัฐฯ ที่ดูเริ่มคลี่คลายลง ถึงแม้ว่าการประชุม Jackson Hole ที่ผ่านมา Fed ยังมีท่าทีเดินหน้าคุมเข้มในการดำเนินนโยบาย และมีแนวโน้มในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโนยบายต่อ

ในฝั่งตลาดหุ้นจีนยังคงได้รับแรงกดดันอย่างหนัก จากภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนเริ่มลุกลามมากขึ้น โดยล่าสุดบริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Country Garden ได้ผิดนัดชำระหนี้ และมีความเสี่ยงในการเกิด Cross Default ขึ้น นอกจากนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนยังคงออกมาแย่กว่าคาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมที่ออกมาหดตัวลง 0.3% ซึ่งเป็นการหดตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่ ก.พ 2021 โดยปัจจุบันตลาดมองว่ามาตราการที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ยการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อกระตุ้นความต้องการสินเชื่อ และลดต้นทุนการกู้ยืม ยังคงไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และตลาดยังมีความคาดหวังในการเห็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่อจากนี้

ด้านตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม หลังจากรัฐสภาได้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยตลาดมีความคาดหวังการผลักดันนโยบายต่างๆ อาทิเช่น การแจกเงินผ่าน Digital Wallet การลดราคาพลังงาน ฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่จะกล้าลงทุนมากขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน โดยมีหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิเช่นกลุ่มไฟแนนซ์ และกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก GDP ขยายตัว 2.2% และในไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 1.8% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3% มาจากภาคการส่งออกสินค้าที่ยังอ่อนแอ และการใช้จ่ายทางภาครัฐที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงในการปรับลดลงอีก ซึ่งตั้งแต่ต้นปี ปรับลดลงไปแล้วกว่า 15% ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง รวมถึงการออกนโยบายต่างๆของรัฐบาลชุดใหม่จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อภาพตลาดต่อจากนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นน่าจะเริ่มมองข้ามผลประกอบการที่อาจจะยังไม่โดดเด่นนักในไตรมาส 3 และให้ความสำคัญกับฟื้นตัวของธุรกิจในปีหน้า ซึ่งด้วย Valuation ระดับปัจจุบัน นับว่า หุ้นไทยยังมี Upside อยู่เมื่อเทียบกับผลประกอบการคาดการณ์ของปี 2024