จับตา ‘เงินเยน’ พรุ่งนี้ หลังคาด BOJ คงดอกเบี้ยติดลบต่อ

จับตา ‘เงินเยน’ พรุ่งนี้ หลังคาด BOJ คงดอกเบี้ยติดลบต่อ

นักวิเคราะห์แนะจับตา “ค่าเงินเยน” วันพรุ่งนี้ หลังโพลของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาด “คาซูโอะ อุเอดะ” ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบเท่าเดิมที่ -0.10% ชี้อาจเดินหน้ากำหนดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) จนไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (30 ต.ค.66) ว่า  คาซูโอะ อุเอดะ (Kazuo Ueda) ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตกอยู่ในที่นั่งลำบากหากในการแถลงนโยบายวันพรุ่งนี้ยังยืนหยัดดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายขั้นสุดต่อไป เพราะมีความเสี่ยงที่จะกดดันให้ “ค่าเงินเยน” ไปสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ จนทำให้ธนาคารกลางต้องเข้าควบคุมผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่อง (Yield Control Program )

ภาพรวมการซื้อขายบอนด์ญี่ปุ่น

ในขณะเดียวกัน หากอุเอดะเพิ่มเพดานอัตราผลตอบแทน 10 ปีภายใต้การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control: YCC) ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ท้ายที่สุดอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนระยะยาวขึ้นสู่ระดับที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอันตรายต่อเป้าหมายของเขาในการบรรลุอัตราเงินเฟ้อที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เพื่อเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการแถลงการณ์เกี่ยวกับนโยบายการเงินในวันพรุ่งนี้ช่วงเช้าอาจเต็มไปด้วยความยากลำบากเพียงใด เจ้าหน้าที่ BOJ มีแนวโน้มที่จะติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะปรับ YCC หรือไม่

“BOJ อยู่ในสถานะที่ยากลำบากอย่างยิ่ง” สึโยชิ อุเอโนะ (Tsuyoshi Ueno) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัย NLI ในโตเกียว กล่าว พร้อมเสริมว่า “ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ ยังไงก็ย่อมมีคนวิจารณ์อยู่แล้ว”

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ตอบแบบสอบถามของบลูมเบิร์กว่า อุเอดะ ต้องการพิจารณาหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเติบโตของค่าจ้าง และแนวโน้มราคาที่มั่นคงมากขึ้น ก่อนที่จะยกเลิกอัตราดอกเบี้ยติดลบในฤดูใบไม้ผลิหน้า โดยปัจจุบัน Consensus มองว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10%

ขณะที่สามในสี่ มองว่าผู้ว่าฯ สามารถยกเลิกนโยบายทางการเงินแบบดังกล่าวได้เลย ส่วนที่เหลือมองว่า อุเอดะทำทุกอย่างเพียงซื้อเวลา เพราะยังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน

ทั้งนี้ การทำ Yield Curve Control คือ เครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้เพื่อจัดการกับต้นทุนการเงินของประเทศ ทางการจะกำหนดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรแต่ละช่วงอายุให้อยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ระดับเป้าหมาย” ทว่าท้ายที่สุดก็จะทำให้อัตราดังกล่าวปรับตัวไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

ที่มา: บลูมเบิร์ก