ยอดล้มละลายปี 2566 ในสหรัฐฯ พุ่ง 18% คาดส่อแววพุ่งต่อเนื่องปีนี้

ยอดล้มละลายปี 2566 ในสหรัฐฯ พุ่ง 18% คาดส่อแววพุ่งต่อเนื่องปีนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า การยื่นขอล้มละลายทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการล้มละลายทั้งในระดับเชิงพาณิชย์และระดับส่วนบุคคลในสหรัฐฯ ปี 2566 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 18% แตะระดับ 445,186 ราย จาก 378,390 ราย ในปี 2565 และคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567 นี้ โดยถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และการสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด แม้จำนวนการล้มละลายจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัดก็ตาม 

ข้อมูลจาก Epiq AACER ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านการล้มละลาย ระบุว่า การยื่นปรับโครงสร้างธุรกิจตามมาตรา 11 เพิ่มขึ้น 72% อยู่ที่ 6,569 ราย จากระดับ 3,819 ราย ในปี 2565 ขณะที่ ผู้บริโภคยื่นขอล้มละลายเพิ่มขึ้น 18% มาอยู่ที่ 419,559 ราย จาก 356,911 รายในปี 2565

สำหรับเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปี 2566 พบว่า ยอดยื่นเรื่องรวมลดลงมาอยู่ที่ 34,447 ราย จาก 37,860 ราย ในเดือน พ.ย. แต่เพิ่มขึ้น 16% จาก เดือน ธ.ค. 2565 พร้อมกันนี้ ตามรายงานคาดการณ์ว่า ปี 2567 จำนวนผู้ขอยื่นล้มละลายจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงอยู่ห่างจากระดับ 757,816 ราย ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายไมเคิล ฮันเตอร์ (Michael Hunter)  รองประธาน Epiq AACER ระบุว่า “เป็นไปตามที่คาดการณ์ เราเห็นยอดการยื่นขอล้มละลายใหม่ในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2565 ซึ่งนำโดยยอดยื่นขอล้มละลายในระดับผู้ประกอบการ ซึ่งเริ่มหวนคืนกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด” พร้อมกล่าวเสริมว่า “เราคาดการณ์ว่าจะมีบุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์เพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่องในปี 2567 จากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสิ้นสุดลงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด รวมไปถึงต้นทุนด้านเงินทุนที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ ข้อมูลจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสิ้นสุดไตรมาส 3 รวมไปถึงอัตราการค้างชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ เงื่อนไขการเงินสำหรับธุรกิจและครัวเรือน มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการกู้ยืมและสภาพการเงินโดยรวม ปรับตัวผ่อนคลายลงตลอดไตรมาส 4 ปี 2566 หลังจากเฟดส่งสัญญาณใกล้สิ้นสุดวงจรปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เฟด พูดถึงคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567

ที่มา: รอยเตอร์